fbpx

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ?” ให้กับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่โรงไฟฟ้า ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยจัดขึ้นทั้งที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดระยอง และจังหวัดนครราชสีมา โดยมีจำนวนผู้เข้าฟังในแต่ละครั้งประมาณ 80 คน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในคำนิยามเบื้องต้นก่อนว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้ คือ อะไร ?”

“สังคมแห่งการเรียนรู้” หมายถึง กระบวนการทางสังคมที่เกื้อหนุนส่งเสริมให้บุคคลหรือสมาชิกในชุมชน ในสังคมเกิดการเรียนรู้ โดยผ่านสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ แหล่งการเรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ จนสามารถสร้างความรู้ สร้างทักษะ มีระบบการจัดการความรู้และระบบการเรียนรู้ที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคม ทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการเลือกและตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

หลักคิดที่สำคัญเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ คือ

1. เรียนรู้ตลอดชีวิต

2. สังคมมีส่วนรวมในการจัดการศึกษา

3. พัฒนากระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

LearningSociety

นอกจากจะต้องทำความเข้าใจว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้ คือ อะไร ?” แล้ว เราต้องทำความเข้าใจว่า “ทำไมจึงต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ?”

ในโลกปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น สังเกตได้จากที่ว่าผู้ประกอบการยุคปัจจุบันอย่างเช่น Google ก็ไม่ได้สนว่าคุณจะจบปริญญาจากที่ไหนมา แต่สนใจว่าคุณมีศักยภาพในการทำงานให้กับเขาหรือเปล่า ?

สุดท้าย คือ จะต้องมาขบคิดกันว่า “ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ?” ซึ่งนับว่าเป็นโจทย์ใหญ่มาก หากเราคิดว่าจะต้องไปปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างการบริหารการจัดการศึกษาของภาครัฐ แต่เราอาจจะศึกษาได้ว่าประเทศอื่น ๆ เขามีแนวทางพัฒนาคนในชาติอย่างไร ?

อย่างเช่น ประเทศสิงค์โปร์ มีวิสัยทัศน์ในเรื่อง “โรงเรียนนักคิด ประเทศแห่งการเรียนรู้” ที่มุ่งเน้นพัฒนาคนในด้านต่อไปนี้

1. ทักษะชีวิต (การคิด, การสร้างสรรค์, การแก้ไขปัญหา)

2. เจตคติ (การทำงานร่วมกัน, ความสนใจใคร่รู้)

3. นิสัย (อดทนต่อความไม่ชัดเจน, ความเพียรพยายาม)

แนวทางการจัดการเรียนรู้ของประเทศสิงค์โปร์ก็เปลี่ยนไปเป็น “สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น” โดยมุ่งเน้นในเรื่อง ทักษะชีวิตที่ใช้ได้จริง, ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม, ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะการทำงาน

เมื่อเราศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ก็เพียงแค่นำแนวคิดนั้นมาเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง เริ่มต้นที่ครอบครัวของเราเอง และค่อยขยายการเรียนรู้ไปสู่สังคมคนรอบข้าง

ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้จากปัญหาจริงที่เกิดขึ้นเป็นตัวตั้ง เรียกว่าเป็น Problem Based Learning โดยกระบวนการเรียนรู้ที่ดีของสังคม คือ จะทำอย่างไรให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม

กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในสังคม สิ่งสำคัญ คือ จะต้องเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น โดยเริ่มต้นจากในระดับหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ก็คือ ครอบครัวเราเอง ทำอย่างไรคุณพ่อคุณแม่จะยอมถอดหมวกบทบาทผู้นำครอบครัว มาสวมหมวกนักเรียนรู้ที่พร้อมจะเรียนรู้ไปกับลูก

คุณครูในโรงเรียนก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ หากคุณครูลองปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็น “สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น” อย่างในประเทศสิงค์โปร์ เปิดพื้นที่ให้เด็กคิด ให้เด็กทดลองสิ่งใหม่ ๆ ก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

รวมไปถึงผู้ใหญ่ในวัยทำงาน คนที่เป็นหัวหน้างานหากยอมละวางตัวตน ที่เผลอคิดว่าตนเองตำแหน่งหน้าที่การงานสูงกว่า มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า เปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นในการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ พร้อมที่จะเรียนรู้ และคอยให้คำชี้แนะในเชิงสร้างสรรค์ ก็จะทำให้บรรยากาศในการทำงานเป็นพื้นที่เปิดเพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมในการทำงานใหม่ ๆ

ก็หวังว่าการปรับเปลี่ยนทีละเล็กทีละน้อยของคนในสังคม จะช่วยทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts