(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 29/12/2556)
เมื่อวันก่อนระหว่างที่ผู้เขียนกำลังโดยสารรถไฟฟ้า BTS กลับบ้านนั้น ก็ได้เจอกับครอบครัวหนึ่งบนขบวนรถ สามีเป็นชาวต่างชาติ ภรรยาเป็นคนไทย มีลูกน้อยวัยกำลังซน 1 คน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ปรากฎให้เห็นดังภาพ คือ เจ้าหนูน้อยขึ้นไปปีนป่ายอยู่บนเสาราวจับของรถไฟฟ้า โดยมีคุณพ่อใช้มือประคองอยู่ห่าง ๆ กันไว้ เผื่อกรณีเจ้าหนูน้อยพลัดตกลงมา ผู้เขียนเฝ้าสังเกตการเล่นปีนป่ายขึ้นลง เมื่อค่อย ๆ ไถลตัวลงมาจนถึงพื้นข้างล่าง ก็จะร้องเรียกคุณพ่อให้อุ้มขึ้นไปข้างบนใหม่ เล่นอย่างนี้อยู่หลายรอบ จนรถไฟฟ้าถึง BTS สถานีสยาม ระหว่างการเล่นนั้นสีหน้า และแววตาของเจ้าหนูน้อยเป็นไปด้วยสนุกสนาน
ความคิดแว๊บแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวผู้เขียน ก็คือ วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกแบบชาวตะวันตก กับ วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกแบบชาวตะวันออกนั้น ค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะหากเป็นลูกของเราเอง คงต้องห้ามไม่ให้ไปเล่นอะไรโลดโผนแบบนั้น เพราะกลัวพลัดตกลงมา เพราะเกรงว่าไม่ค่อยเหมาะสมแข้งขาจะไปโดนคนอื่น เพราะว่าหนูเป็นเด็กผู้หญิงไม่สมควรเล่นอย่างนี้ สารพัดเหตุผลต่าง ๆ นานา
คำถามที่ผุดขึ้นในหัวที่ตามมา ก็คือ แล้วอย่างไรจึงจะเรียกว่าเหมาะสมพอดี การไปตีกรอบห้ามทำอะไรเลย ก็จะทำให้เด็กไม่ได้รับประสบการณ์ ไม่ได้เรียนรู้อะไร แต่หากปล่อยอิสระเกินไป ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นคุณพ่อของเจ้าหนูน้อยทำ ก็คือ การเฝ้าดูอยู่ในระยะที่เหมาะสม พร้อมที่จะเข้าช่วยประคองทันที หากเกิดอะไรขึ้นมา
เปรียบเทียบแล้วการเล่นของเจ้าหนูน้อย ก็คือ การได้ประสบการณ์เรียนรู้ในรูปแบบหนึ่ง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ คือ ความกระหายใคร่อยากรู้ (Eager to Learn) สิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่จะตามมา ก็คือ อิสรภาพในการเรียนรู้ (Freedom to Learn) ที่จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพของเขาออกมาได้อย่างเต็มที่
ดังนั้นอิสรภาพในการเรียนรู้ (Freedom to Learn) จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งนี้ในขอบเขตที่เหมาะสม
นักปรัชญาชาวอินเดีย OSHO ได้กล่าวไว้ว่า อิสรภาพ (Freedom) ต้องมาพร้อมกับ ความรับผิดชอบ (Responsibility) เมื่อเราต้องการอิสรภาพในการที่จะทำสิ่งใด เราต้องมีความรับผิดชอบของผลการกระทำนั้น ๆ
หากเราได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในการสอนเด็กน้อย จะทำให้เด็กน้อยได้เรียนรู้ที่จะประเมินว่าผลการกระทำนั้นมีโอกาสเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง และพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือไม่ การสอนแบบนี้ก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเติบโตขึ้นทีละน้อย ๆ ดีกว่าไปออกคำสั่ง ออกกฎเกณฑ์ห้ามทำไปทุกเรื่อง สุดท้ายเด็กก็จะไม่กล้าทำอะไรเลย
การเรียนรู้ที่ดีจะต้องเกิดจากประสบการณ์ในการลงมือทำจริง ดังสุภาษิตไทยที่ว่า “ผิดเป็นครู” การที่ไปกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากมาย ห้ามทำโน่นทำนี่ไปซะหมด ก็จะทำให้พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของเด็กน้อยหายไป
จึงไม่น่าแปลกใจซะเท่าไหร่ ที่นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นในดินแดนชาวตะวันตก มากกว่า ดินแดนชาวตะวันออก เพราะการปลูกฝังวัฒนธรรมในการเรียนรู้ที่แตกต่างกันในเอง
หากเราอยากให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คงต้องช่วยกันให้ความสำคัญกับเรื่อง อิสรภาพในการเรียนรู้ (Freedom to Learn) ให้มากขึ้นเช่นกัน…
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com