ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญจาก สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้ไปแบ่งปันประสบการณ์การเป็นกระบวนกร (Facilitator) ให้กับชุมชนกระบวนกร ในงาน CoP#16 ที่มีอาจารย์เอกรัตน์ รวยรวย เป็นผู้ประสานงานในการกิจกรรมเรียนรู้ครั้งนี้ให้เกิดขึ้น
ผู้เขียนได้เล่าประสบการณ์การเป็นกระบวนกร (Facilitator) ตั้งแต่สมัยที่มีโอกาสมาทำงานที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism เพื่อนำไปปรับใช้ในโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของพนักงาน ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า โครงการ C-Pulp
“Constructionism” คือ ทฤษฎีการเรียนรู้รูปแบบที่พัฒนาขึ้นโดย Professor Seymour Papert แห่ง M.I.T. (Massachusette Institute of Technology) ที่เน้นผู้เรียนรู้เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ไม่ใช่มาจากการสอนของผู้สอนเพียงอย่างเดียว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อผู้เรียนรู้ได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by doing)
เมื่อเข้าใจถึงแนวคิดทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ก็จะทำให้เห็นบทบาทที่แตกต่างออกไปจากระบบการเรียนรู้แบบเดิมที่เน้นการสอนเป็นหลัก (Teaching) ที่มีความสัมพันธ์ในเชิง ผู้สอน (Teacher) กับ นักเรียน (Student) เปลี่ยนความสัมพันธ์ไปเป็น กระบวนกร (Facilitator) กับ ผู้เรียนรู้ (Learner) จะเห็นได้ว่าช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์จากเดิมที่ค่อนข้างห่างถูกทำให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นที่ กระบวนกร (Facilitator) พร้อมที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันกับ ผู้เรียนรู้ (Learner)
ผู้เขียนได้เล่าถึงบทบาทที่สำคัญของกระบวนกร (Facilitator) ในมุมมองของผู้เขียนที่ต้องมุ่งเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) และระยะเวลา (Time) ที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างไรให้สัมพันธ์กับระยะเวลา ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Transform) ตกผลึกทางความคิดของผู้เรียนรู้ได้ขึ้นเอง
จากประสบการณ์ของผู้เขียน การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนรู้ได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ (Learning by doing) โดยเรียนรู้จากการทำโครงงานที่ผู้เรียนรู้สนใจ ในแบบ Project-based Learning หรือเรียนรู้จากปัญหาจริง ในแบบ Problem-based Learning เป็นหลัก แล้วค่อย ๆ ทยอยต่อยอดความรู้ศาสตร์แขนงต่าง ๆ เข้าไปจะทำให้ผู้เรียนรู้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในเรื่องนั้น ๆ เห็นความเชื่อมโยงของความรู้ศาสตร์แขนงต่าง ๆ มากกว่าการสอนในรูปแบบเดิมที่เน้นการสอนเป็นหลัก สอนเป็นรายวิชา ๆ ไป ทำให้ไม่เกิดประสิทธิผลในการเรียนรู้ ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และมองไม่เห็นความเชื่อมโยง
บทบาทกระบวนกร (Facilitator) ในการจัดการเรียนรู้แบบ Project-based Learning หรือ Problem-Based Learning คือ การเฝ้าสังเกต และตั้งคำถามกับ ผู้เรียนรู้ (Learner) เพื่อให้วงจรการเรียนรู้ถูกขับเคลื่อน และเมื่อผู้เรียนรู้ เกิดความอยากรู้ในเรื่องใด ก็ถึงเวลาที่กระบวนกร (Facilitator) จะสอดแทรกความรู้ศาสตร์แขนงต่าง ๆ ให้ในเวลาที่เหมาะสม
ดังนั้น Constructionism จึงมิได้ปฏิเสธรูปแบบการให้ความรู้ด้วยการสอน (Teaching) เลยซะทีเดียว แต่จะใช้การสอนให้น้อย เรียนรู้ให้มาก (Less Teaching, More Learning) สอนเฉพาะเมื่อผู้เรียนรู้มีความอยากรู้ และในเวลาที่เหมาะสม
นอกจากนี้แล้วในวันนั้น ผู้เขียนยังได้เล่าประสบการณ์ที่นำทักษะกระบวนกร (Facilitator) ไปใช้ในงานที่ปรึกษา สมัยทำงานอยู่ที่เครือเบทาโกร ที่เน้นการตั้งคำถามกับหน่วยงานที่ให้คำปรึกษา เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน จากการทำโครงการลดต้นทุนต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ สอดแทรกแนวคิดเครื่องมือในการปรับปรุงงานให้ไปใช้งานอย่างเหมาะสม
ซึ่งตัวชี้วัดที่สำคัญว่าประสบความสำเร็จในการเป็นที่ปรึกษาหรือไม่? ก็คือ เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้ (Learning Curve) ของคนในหน่วยงานที่เราเข้าไปให้คำปรึกษา เติบโตรวดเร็วเพียงใด ซึ่งสามารถสังเกตได้จากบทบาทของที่ปรึกษา ในการช่วยตั้งคำถามก็จะน้อยลง คนในหน่วยงานมีความสามารถเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
ผู้มาร่วมงานในวันนั้น มีทั้งอาจารย์จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานที่ทำงานด้านการศึกษา ให้กับ เครือ ปตท. ทำให้ผู้เขียนเองก็ได้มีโอกาสเรียนรู้มุมมองที่อาจารย์ได้นำแนวคิดกระบวนกร (Facilitator) และทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนด้วยเช่นกัน
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่แนวคิดกระบวนกร (Facilitator) และทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ถูกนำไปปรับใช้กันในหลายระดับ ตั้งแต่
ระดับโรงเรียน (School that Learned)…
ระดับมหาวิทยาลัย (University that Learned)…
ระดับอุตสาหกรรม (Industry that Learned)…
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com