กว่า 22 ปี ในโลกคนสองขั้ว (Bipolar)
ผมตัดสินใจอยู่นานมาก…ว่าจะเขียนเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเรื่องนี้ดีไหม? เพราะในแง่หนึ่งมันอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพการงานที่ทำและความเชื่อมั่นต่อตัวผม…แต่เมื่อคิดทบทวนอีกแง่มุมหนึ่ง การบอกเล่าให้คนอื่นได้รับรู้และตระหนัก น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งคนที่เป็นโรคนี้หรือการมีคนใกล้ชิดที่เป็นโรคนี้อยู่บ้าง และผมขอบคุณอย่างมากหากผู้อ่านช่วยแชร์ หรือคอมเม้นให้กำลังใจผมครับ
ประสบการณ์ในโลกคนสองขั้วที่ผมประสบพบมากับตัวเองนี้ เริ่มออกอาการหนักมากๆ เมื่อปี 2545 ซึ่งเป็นตอนที่ผมทำงานอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในเมืองโอ่งมังกร
ตอนนั้นผมมีอาการซึมเศร้า (Depress) ค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปพบจิตแพทย์ จึงยังไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคอะไร ผมขังตัวเองอยู่ในห้องพักพนักงานร่วมเดือนกว่า ไม่รับโทรศัพท์ใคร ไม่ออกไปพบปะใครแม้แต่เพื่อนฝูงที่สนิท มีพี่ที่ใกล้ชิด ซึ่งคอยแวะมาเคาะประตูห้องเพื่อถามไถ่ แต่ผมก็ไม่สนใจ ขังตัวเองอยู่ในห้องอย่างนั้น จะออกจากห้องมาก็แค่ตอนที่ต้องพยายามหาอะไรมาใส่ท้อง และตอนนั้นผมก็ไม่ได้ติดต่อกับคนที่บ้านที่กรุงเทพฯ เลย เพราะกลัวคนที่บ้านจะเป็นห่วง
อาการที่เป็นตอนนั้นก็ไม่รู้ว่ามาจากสาเหตุอะไร แต่ก็เป็นไปได้ที่เกิดจากความเครียดหลายอย่างปนกัน ผมทั้งกังวลที่ต้องอยู่ห่างไกลแฟนที่กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศ ทั้งน้อยใจที่ไม่ได้รับการปรับระดับในหน้าที่การงาน และความเครียดเนื่องจากเรื่องภาระและงานที่รับผิดชอบอยู่
เป็นเวลาเดือนกว่าที่ผมหายหน้าไปจากที่ทำงาน แต่โชคดีมีพี่ๆน้องๆวิศวกร และหัวหน้าหมวดช่วยดูแลงานแทนให้ในช่วงนี้
สุดท้ายทางผู้จัดการฝ่ายบุคคลโรงงาน ต้องมาพูดคุยเป็นการส่วนตัวที่ห้องพักพนักงาน และเป็นธุระนัดคุยกับผู้จัดการส่วนผลิต และพ่อของผม เพื่อพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน…ก็ได้ข้อคิดเห็นว่าทุกคนอยากให้ผมกลับไปทำงานตามปกติ และทำเรื่องวันลาหยุดตามระบบ ที่ผ่านมาจะไม่มีการคาดโทษใดๆ โดยผู้จัดการส่วนผลิต ยังได้แนะนำในตอนนั้นว่าผมควรไปพบจิตแพทย์ (แต่ผมก็ไม่ได้ไปตามคำแนะนำ)
ผมเริ่มกลับเข้าไปทำงานตามปกติ ตอนแรกรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า แต่ก็โชคดีที่พี่ๆ หัวหน้าแผนกหัวหน้าหมวดและหัวหน้ากะต่างๆ เข้ามาพูดคุย ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำประสาคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตมาก่อน รวมถึงเพื่อนๆ พี่ๆ ที่สนิท และเพื่อนๆ ที่ออฟฟิศของโรงงาน ก็คอยแวะเวียนมาให้กำลังใจเป็นอย่างดี
หลังจากนั้นไม่นาน ผมได้ขออนุญาตผู้จัดการส่วนผลิต ไปเรียนต่อปริญญาโทภาคค่ำ ซึ่งแกก็ตอบตกลงและในระหว่างที่ผมเรียนต่อปริญญาโทช่วงนั้นเอง คุณพ่อก็ย้ายมาพักอยู่ด้วยกันในบ้านพักพนักงาน คอยอยู่เป็นเพื่อนผม และสอนผมขับรถในช่วงแรกๆ เพราะผมต้องเริ่มขับรถไปกลับด้วยตัวเอง
หลังจากเรียนปริญญาโทไปซักพัก ผมได้รับโอกาสจากฝ่ายบุคคลกลาง ให้ไปช่วยงานเป็น Facilitator ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธน เป็นเวลา 1 ปี โดยมีเงื่อนไขว่า หลังจากนั้นต้องกลับมาทำโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการที่โรงงาน
ช่วง 1 ปีที่ทำงานที่โรงเรียนแห่งนั้น ถือว่ามีความสุขดี จะมีบ้างที่มีอาการกำเริบไม่อยากไปทำงานที่โรงเรียน รวมถึงไม่ไปเรียนมหาวิทยาลัย จนต้องพักการเรียนปริญญาโท ไปประมาณ 1 เทอม ในช่วงทำ IS (Independent Study)
ผ่านไป 1 ปี ผมกลับมาทำงานที่โรงงานอีกครั้งพร้อมกับหน้าที่รับผิดชอบใหม่ โดยการบุคคลกลาง ได้มอบหมายให้ผมนำทักษะ Facilitator ที่ผมได้เรียนรู้ในแนวทางการเรียนรู้แบบ Constructionism มาใช้กับโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการของโรงงาน ซึ่งมีผู้เข้าเรียนรุ่นละ 12 คน ระยะเวลาเรียน 1 ปีเต็ม โดย 2 รุ่นแรกที่จบไปนั้นจะมีเพียงอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นผู้ดูแลเท่านั้น
ผมเข้าไปในโครงการรุ่นที่ 3 ต้องทำงานร่วมกับอาจารย์ ซึ่งต้องนำแนวทางที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียน มาปรับใช้ ช่วงนี้เองที่ไบโพลาร์กลับมาอีกรอบ…ผมมีอาการสุดเหวี่ยง สุดขั้ว ผมเริ่มโต้เถียงกับอาจารย์อย่างรุนแรง ในเรื่องต่างๆ ที่ผมไม่เห็นด้วย และนอกจากเหตุการณ์นั้น ก็ยังพบอีกหลายเหตุการณ์ ที่ดูจะหนักสุด คือ ตอนไปเชียร์ฟุตบอลของโรงงานลงเตะกับทีมอื่น ครั้งนั้นผมไม่พอใจคำตัดสินของกรรมการ จึงแสดงอาการโมโหอย่างสุดขีดด้วยการเขวี้ยงขวดเบียร์ลงสนามฟุตบอล
ผมทำงานโครงการนั้นได้เพียง 2 รุ่น แต่เป็นอีกช่วงเวลาที่ผมมีความสุขกับการทำงานมากๆ แม้จะมีปัญหาโต้เถียงกับอาจารย์อยู่หลายครั้ง
อาจจะด้วยเหตุผลที่ความคิดผมไม่ค่อยลงรอยกับอาจารย์หรือเปล่า? หรืออาจจะมาจากเหตุผลอื่นก็ได้ ทำให้ผมถูกโอนย้ายไปทำงานที่ฝ่ายวิศวกรรมโครงการ
งานที่นี่ทำให้ผมเริ่มกลับมาไม่มีความสุขกับการทำงาน อาการ Depress เริ่มกำเริบ ผมไม่ไปทำงานหลายสัปดาห์ติดต่อกัน แต่ครั้งนี้ไม่หนักมากถึงขั้นต้องขังตัวเอง ผมยังประคับประคองอาการ ออกไปทานข้าวกับเพื่อนสนิทอยู่ได้บ้าง
แต่ก็มีจังหวะช่วงต้นปี 2549 ที่ผมเริ่มถูกกดดันในเรื่องงานอย่างหนัก และทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากที่โรงงานแห่งนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีงานใหม่รองรับก็ตาม
ผ่านไป 2 เดือน ผมได้งานใหม่ที่บริษัทแห่งหนึ่งในย่านหลักสี่ ในฝ่ายวิศวกรรมเพิ่มผลผลิต ซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยที่ผมเรียนป.โทอยู่ ทำให้ผมได้มีเวลากลับไปทำ IS (Independent Study) เพื่อทำเรื่องจบป.โท อีกครั้ง
ในช่วงการทำงานตั้งแต่ปี 2549-2553 ที่ทำงานอยู่ในฝ่ายวิศวกรรมเพิ่มผลผลิต การได้ไปช่วยงานที่โรงงานต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานอาหารสัตว์ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขในการทำงานอย่างมาก
จากนั้นผมได้รับมอบหมายให้ไปช่วยโครงการด้าน CSR ของบริษัท ได้ทำงานกับโครงการหลายโครงการทั้งกับชาวบ้าน ,มหาวิทยาลัย และมูลนิธิต่างๆ
แต่เนื่องจากบางงานเป็นโครงการที่ผู้บริหารระดับสูงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จึงทำให้ผมเริ่มกลับมาเครียด และกระตุ้นภาวะ Depress ให้หวนกำเริบอีกรอบ
ครั้งนี้ผมตัดสินใจไปพบแพทย์ตามคำแนะนำของคนใกล้ชิด ตอนแรกคุณหมอวินิจฉัยว่าผมเป็นโรคซึมเศร้า และได้ออกใบรับรองแพทย์ให้ผมพักงานไปหลายสัปดาห์ ซึ่งอาการครั้งนี้คล้ายๆ กับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 คือไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่รับสายโทรศัพท์ใคร หมกตัวเองในห้อง และอยากซุกตัวเองใต้ผ้าห่มตลอดเวลา
หลังจากนั้นผมตัดสินใจเริ่มรับการรักษาตามกระบวนการทางการแพทย์ แต่ตัวยาเริ่มแรกที่กินมีผลกับร่างกายมาก ผมเริ่มป่วยหนักและหนักมากจนเกือบจะต้องไปทำการรักษาเป็นผู้ป่วยภายในของโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง
ในช่วงแรกผมเปลี่ยนจิตแพทย์ที่พบไปเรื่อย ๆ จนมีคนแนะนำให้ลองไปรักษากับคุณหมอท่านหนึ่ง แต่ก็มีคนบอกอีกว่าคนไข้ของคุณหมอเยอะมาก คุณหมอไม่รับ Case ใหม่ๆ ถ้าไม่จำเป็น จนผมหวั่นๆ ใจว่าคุณหมอจะรับคนไข้เพิ่มไหม แต่สุดท้ายคุณหมอก็รับผมเป็นคนไข้ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้
ตอนเข้ารับการรักษากับคุณหมอท่านนั้น คุณหมอเริ่มจากซักถามผมถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ในแต่ละวัน และผมก็พบว่าบางครั้งผมกลายเป็นคนขี้โมโหฉุนเฉียวกับคนรอบข้างบ่อยมาก และอารมณ์นั้นจะค้างอยู่นาน 2-3 วัน หรือนานมากเป็นสัปดาห์ บางครั้งผมรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า คิดวนแต่เรื่องราวในอดีต จมอยู่กับความเศร้า บางวันก็มีอารมณ์ทั้งสองขั้วทั้ง Depress และทั้ง Mania คุณหมอก็วินิจฉัยว่าผมไม่ได้เป็นซึมเศร้า แต่ผมเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ไบโพลาร์”
กลับมาที่เรื่องทำงานอีกครั้ง ตอนกลับไปทำงานใหม่ผมก็ได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้บังคับบัญชาที่มอบหมายงานไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ให้ทำ แต่ผมเองตอนนั้นเริ่มรู้สึกเบื่อการทำงานมากๆ ผมไปทำงานสายทุกวัน บางวันเข้างานเกือบเที่ยง บางวันไปตอนบ่าย ตกเย็นแต่ละวันเลยไม่ค่อยได้งานเท่าไหร่ แต่ผู้อำนวยการฝ่ายก็ยังพยายามดูแลผมอย่างเต็มที่ตามความสามารถและอำนาจหน้าที่ในตอนนั้น
ในช่วงนั้นผมรู้สึกตัวเองไร้คุณค่ามากๆ ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่เคยเป็น
จนกระทั่งได้รับโอกาสจากน้องคนหนึ่งที่รู้จักกัน ให้ผมช่วยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เดือนละ 2 บทความ อันเป็นที่มาของคอลัมน์ Life is Learning ในนามปากกา “นายเรียนรู้” ซึ่งงานเขียนนี้ แม้ไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่ก็ทำให้ผมเห็นคุณค่าในตัวเองขึ้นมาบ้าง
ส่วนในเรื่องการทำงาน ผมรู้ตัวเองดีว่าทำงานต่อไปในสภาพเช่นนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับตัวเอง ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อเปลี่ยนงานอีกครั้ง โดยหวังว่าการเปลี่ยนงานจะช่วยให้อาการของผมกลับมาดีขึ้น
ทว่าการหางานในวัยใกล้ 40 ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ด้วยฐานเงินเดือนที่ค่อนข้างสูง และความกังวลที่ว่าบางงาน ผมไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ อาจทำให้อาการกลับมากำเริบอีก
สุดท้ายผมตัดสินใจไปเรียนหลักสูตรการเป็นวิทยากร กับอาจารย์ท่านหนึ่ง ด้วยความหวังว่าจะมาประกอบอาชีพวิทยากรอิสระ
แต่ชีวิตก็ไม่ง่ายอย่างนั้น ช่วงเริ่มต้นผมยังไม่เป็นที่รู้จักนัก ไม่ค่อยมีใครว่าจ้าง แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ท่านที่ผมไปเรียนด้วย ที่ได้ให้โอกาสผมไปเป็นผู้ช่วยวิทยากรในแต่ละเดือนและให้ค่าตอบแทนที่สูงพอสมควร ทำให้ผมมีรายได้ในช่วงแรกที่ยังไม่สามารถหางานเองได้
การได้ไปเป็นผู้ช่วยวิทยากรให้กับอาจารย์ท่านนั้น ทำให้ผมได้เรียนรู้ทักษะการเป็นวิทยากรแบบมืออาชีพเพิ่มขึ้น จนในปีต่อมา ผมเริ่มได้งานมากขึ้นจากออแกไนเซอร์ต่าง ๆ และลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาโดยตรง บางปีมีวันฝึกอบรมกว่า 100 วัน ถือได้ว่าเป็นช่วง 5 ปีแรกในอาชีพวิทยากรที่ผมมีความสุขมากๆ ซึ่งก็ยิ่งตอกย้ำความคิดลงไปอีกว่างานเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อโรคไบโพลาร์ที่ผมเป็น
จนมาถึงช่วงโควิด งานวิทยากรเริ่มหาย กิจการที่ร้านบุ๊คส์คาเฟ่แอนด์สเปซ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่วิกฤติมากๆ ช่วงหนึ่งของชีวิต ผมเริ่มกลับมาเครียด และแสดงออกผ่านอารมณ์ฉุนเฉียวต่อคนใกล้ตัว โดยเฉพาะเวลาที่มีเรื่องที่ไม่ได้ดั่งใจ
การรักษากับคุณหมอยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คุณหมอจำเป็นต้องมีการปรับขนาดยาตามอาการที่ผมเป็น ซึ่งบอกได้เลยว่าการปรับยาในแต่ละครั้งมีอาการข้างเคียงหลายอย่างมาก ทั้งเรื่องสภาวะอารมณ์ และการนอนหลับ
จนเมื่อสถานการณ์โควิด เริ่มคลี่คลาย สถานการณ์ของร้านเริ่มดีขึ้น งานวิทยากรเริ่มกลับมาบ้าง แต่ก็ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน เพราะการมีวิทยากรรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น และหลายคนก็มีความเชี่ยวชาญในหลายๆ เรื่องมากกว่าผม
ผมหันกลับมาทุ่มเทในการบริหารร้านมากขึ้น บางเดือนตัวเลขติดตัวแดง ทำให้อาการเครียดกลับมาและส่งผลกระทบในเรื่องอารมณ์อย่างมาก คราวนี้ไม่ใช่เฉพาะคนใกล้ตัวเท่านั้น ยังรวมไปถึงน้องๆ สตาฟที่ทำงานด้วย
ผมเริ่มมีอาการฉุนเฉียวแบบควบคุมไม่อยู่อย่างมากเมื่อต้นปี 2566 มีปากเสียงกับน้องคนหนึ่งที่เคยทำงานกับผมมานานกว่า 10 ปี ก่อนจะเติบโตออกไปเปิดร้านของตัวเอง ซึ่งพอผมมาทบทวนที่มีปากเสียงกันตอนนั้น ก็เป็นความผิดของผมเองที่แสดงอำนาจและอารมณ์จนเกินขอบเขต
การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวของผมมีตลอดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 ลุกลามไปถึงน้องชายและสตาฟที่เป็นคีย์แมนหลักทั้งงานฝึกอบรมและงานที่ร้าน
เวลา 13 ปีที่ผมเข้ารับการรักษา ดูเหมือนว่าอาการโดยรวมไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เพียงแต่เป็นการประคับประคองไม่ให้เป็นหนักมากด้วยการกินยา
หลังๆ ผมเริ่มตัดปัจจัยที่มารบกวนออกไป ไม่ว่าจะแยกมาอยู่คนเดียว หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนต่างๆ ถ้าไม่จำเป็น เลิกขับรถ หลีกเลี่ยงการขึ้น Taxi ฯลฯ แต่แม้จะพยายามหลีกเลี่ยงแค่ไหน เมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นรบกวน อารมณ์ฉุนเฉียวนั้นก็พลันกลับมาเหมือนเดิม
จนเมื่อพฤศจิกายน 2566 กลุ่ม OSHO Thailand ได้มาเช่าสถานที่ที่ร้าน เพื่อฝึกภาวนาแบบ OSHO Active Meditation ผมเป็นคนที่ติดตามอ่านงานของ OSHO จึงสนใจอยากเข้าร่วมด้วย และก่อนหน้านี้ผมพยายามรักษาสภาวะอารมณ์ทั้งสวดมนต์และนั่งสมาธิ แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จึงคิดว่าอาจจะไม่ใช่แนวทางที่เหมาะกับผม
การได้เข้ามาฝึก OSHO Active Meditation ตั้งแต่วันนั้นทั้งฝึกแบบเป็นกลุ่มเจอตัวกัน เดือนละ 1 ครั้ง และการฝึกผ่าน Zoom ร่วมกันเช้า-เย็น รวมแล้วเป็นระยะเวลามากกว่า 5 เดือน ร่วมกับทำบันทึกกราฟการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ในแต่ละวัน ตามที่คุณหมอแนะนำ มันได้ส่งผลและเปลี่ยนแปลงในด้านอารมณ์ของผมให้นิ่งขึ้น ผมตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกตัวเองมากขึ้น และผมพบว่า 3 เดือน ที่ผ่านมา อารมณ์ผมอยู่ในสภาวะที่นิ่งมาก
ตอนนี้ผมจึงยังคงใช้แนวทางการฝึกภาวนา OSHO Active Meditation ควบคู่กับการรักษาทางจิตเวชต่อไป ซึ่งในระยะยาวๆ ได้ผลเช่นไร จะมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์กว่า 22 ปี ในโลกคนสองขั้วนั้น ได้เรียนรู้ว่า
- คนใกล้ชิด และคนรอบข้างตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างาน มีส่วนช่วย Support ได้ดี ขอเพียงคนเหล่านั้นให้กำลังใจ ไม่ต้องซักถามว่าเป็นอะไรเหรอ เกิดอะไรขึ้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสภาวะนั้น ล้วนไม่มีเหตุผล
- หากรู้สึกเกิดภาวะซึมเศร้า เกิดอาการ Depress มากๆ เช่นอย่างผม ไม่อยากลุกจากที่นอน อยากซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่ม เบื่องานที่ทำ ไม่อยากไปทำงาน ให้ลองหางานที่เราชอบ เรามีความสุขกับมันที่ได้ทำ และเริ่มลงมือทำมันทีละนิดทีละน้อยครับ อย่างผมเองการทำงานเขียน ก็ช่วยเยียวยาได้มาก บางคนที่ผมรู้จักก็ไปปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ และคอยตื่นมารดน้ำต้นไม้ทุกวัน
- หากรู้สึกเกิดภาวะ Mania โมโหอย่างสุดขีด อย่าก้าวเข้าไปจัดการกับเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น ไม่งั้นเรื่องราวจะยิ่งบานปลาย เหมือนที่ผมเคยเผชิญมา ต้องกลับมาอยู่กับตัวเราเอง ค่อยๆทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น บางครั้งเรื่องนั้นอาจค้างคาใจเราไปอีกระยะ จนกว่าเราจะก้าวข้ามไปได้ ด้วยการเอ่ยคำขอโทษเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อคนๆนั้น
- การหลีกเลี่ยงสภาวะรบกวนใจต่างๆ อาจช่วยได้ในระดับหนึ่งในการลดสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจเรา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการฝึกปฏิบัติภาวนา เพื่อให้ตระหนักรับรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง
สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) จากประสบการณ์ส่วนตัวผมขอแนะนำว่า
- ให้ไปพบจิตแพทย์ ในทันทีที่เริ่มรู้ว่ามีอาการ อย่ารอจนเป็นหนักเหมือนผม
- ให้หางานที่เหมาะกับอาการของตัวเอง ทำงานที่รัก ทำงานที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า อย่าไปทำงานที่ต้องเผชิญความกดดัน หรือความเครียด แม้จะได้รับค่าตอบแทนที่ดีก็ตาม
- หาแนวทางในการฝึกปฏิบัติภาวนาที่เหมาะกับตัวเอง เพื่อรู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ของตัวเอง
หมายเหตุ : คำแนะนำนี้เป็นเพียงจากประสบการณ์ผมเท่านั้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ส่วนตัวเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
สำหรับนายจ้างหรือผู้ว่าจ้าง ในมุมมองผมเองแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ยังคงมีความสามารถในการทำงานได้เป็นอย่างดี เพียงแต่อาจจะไม่เหมาะกับการทำงานประจำที่ต้องทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หลายคนที่ผมรู้จักมีความสามารถอย่างมาก ขอเพียงให้โอกาสเขาเท่านั้นเอง
หากคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์กับคนรอบข้าง ฝากช่วยแชร์กันด้วยนะครับ
“นายเรียนรู้”
บุญเลิศ คณาธนสาร
วิทยากร ที่ปรึกษา และนักเขียนอิสระ