fbpx

โฟล์คสวาเกน ติดตั้งซอฟต์แวร์โกงการตรวจสอบค่ามลพิษ อีกหนึ่งกรณีศึกษา CSR ด้านสิ่งแวดล้อม

ข่าวอื้อฉาว ในวงการยานยนต์ของโลก เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา

ที่ปรากฏเป็นข่าวว่าค่ายรถยนต์ชื่อดังจากเยอรมนี ถูกจับได้ว่ามีการติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อโกงผลการทดสอบการปล่อยมลภาวะ โดยซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในรถยนต์ดังกล่าวจะสามารถตรวจจับได้ว่ารถยนต์ไม่ได้อยู่ในสภาพการขับขี่ปกติ ก็จะทำการเปิดระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างเต็มที่ เพื่อให้รถยนต์ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบค่ามลพิษของเจ้าหน้าที่ สามารถตรวจวัดได้ค่าสอดคล้องกับมาตรฐานการปล่อยค่ามลพิษตามที่กฎหมายกำหนด

แต่เมื่ออยู่ในสภาพการขับขี่ปกติ ระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษก็จะไม่ทำงาน เพื่อให้เครื่องยนต์มีสมรรถนะในการขับขี่อย่างสูงสุด เพราะหากระบบการควบคุมการปล่อยมลพิษทำงานก็จะส่งผลต่อสมรรถนะการทำงานของเครื่องยนต์

169119_600

จะเห็นว่าการดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดความรับผิดชอบอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น

บริษัทใด หรือบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นประเด็น

  1. การป้องกันมลพิษ (Prevention of pollution)
  2. การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable resource use)
  3. การบรรเทา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change mitigation and adaptation)
  4. การปกป้องและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (Protection of the environment and restoration of nutural habitats)

ก็ล้วนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยดูแลโลกใบนี้ให้สวยงามน่าอยู่

โดยในมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ได้กล่าวถึงประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม (The environment) ไว้ดังนี้

ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ 1 : การป้องกันมลพิษ (Prevention of pollution)

เพื่อเป็นการปรับปรุงการดำเนินกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการในการป้องกันการเกิดมลพิษ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. ชี้บ่งประเด็นและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการตัดสินใจและกิจกรรมขององค์กร ซึ่งครอบคลุมแหล่งกำเนิดของเสียและมลพิษที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการขององค์กร
  2. ตรวจวัด บันทึก ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ และรายงานผลการลดมลพิษ และปริมาณของเสีย
  3. ป้องกันมลพิษและของเสีย โดยใช้วิธีการจัดการของเสียตามลำดับขั้น (Waste management hierachy) กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรมีการจัดการอย่างเหมาะสม
  4. เปิดโอกาสให้ชุมชนรับรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการแก้ไข บรรเทาปัญหา และความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น
  5. พัฒนาและส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  6. เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเกี่ยวกับ ชนิด ปริมาณของสารพิษ วัตถุอันตรายที่ใช้ การปล่อยออกสู่ภายนอก ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งในการดำเนินงานปกติ และกรณีการเกิดอุบัติเหตุ
  7. ไม่ใช้สารเคมีต้องห้ามตามกฎหมาย หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต้องห้ามตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ 2 : การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable resource use)

ในทุกกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. ชี้บ่ง ตรวจวัด เก็บบันทึก และรายงานผลการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีนัยสำคัญ
  2. ดำเนินมาตรการการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่ลดการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ โดยอาจพิจารณาจากตัวชี้วัดของแนวปฏิบัติที่ดีและเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ
  3. นำทรัพยากรทางเลือกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และมีผลกระทบต่ำ มาใช้ร่วมกันหรือทดแทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
  4. ใช้วัสดุรีไซเคิล และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  5. บริหารจัดการแหล่งทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้งานจากแหล่งน้ำเดียวกัน สามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียม
  6. กำหนดแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
  7. ขยายขอบเขตวิธีการปฏิบัติด้านการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนไปยังคู่ธุรกิจ
  8. สร้างจิตสำนึกให้บุคลากรใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ 3 : การบรรเทา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change mitigation and adaptation)

เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. ชี้บ่งแหล่งกำเนิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม ภายในขอบเขตความรับผิดชอบขององค์กร
  2. ตรวจวัด บันทึก และรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยใช้วิธีที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
  3. ดำเนินมาตรการทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ขอบเขตที่องค์กรควบคุมได้
  4. ป้องกัน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (โดยเฉพาะที่ก่อให้เกิดการทำลายชั้นโอโซน) จากการใช้ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน กระบวนการหรืออุปกรณ์ รวมถึงระบบทำความร้อน ระบบการระบายอากาศ และระบบปรับอากาศ
  5. ทบทวนปริมาณและชนิดของเชื้อเพลิงที่องค์กรมีการใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ และประยุกต์วิธีการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการใช้งานนั้น รวมทั้งมีการนำแนวคิดการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อพิจารณาการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำ และใช้พลังงานทดแทน
  6. มีวิธีการในการประหยัดพลังงาน รวมถึงการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  7. พิจารณาใช้มาตรการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งให้เกิดสมดุลคาร์บอน ด้วยวิธีที่น่าเชื่อถือและโปร่งใส
  8. พิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก และระดับท้องถิ่น ในการชี้บ่งความเสี่ยง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ขององค์กร
  9. ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม

ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ 4 : การปกป้องและฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (Protection of the environment and restoration of nutural habitats)

ในทุกกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร

  1. ชี้บ่งผลกระทบที่ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และกำหนดมาตรการเพื่อลดหรือกำจัดผลกระทบเหล่านี้
  2. ดำเนินแนวทางที่เป็นไปได้และมีความเหมาะสมในการปกป้องระบบนิเวศ รวมทั้งการยอมรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การสร้างคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ
  3. หลีกเลี่ยงการทำให้เกิดความสูญเสียของระบบนิเวศ และฟื้นฟูระบบนิเวศที่สูญเสียไปจากการดำเนินงานขององค์กร ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงและฟื้นฟูระบบนิเวศได้ ควรชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น
  4. บริหารจัดการที่ดิน น้ำ และระบบนิเวศที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ การใช้อย่างยั่งยืนและเท่าเทียมในสังคม
  5. สงวนสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น ที่ถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์หรือถิ่นที่อยู่อาศัยที่อาจได้รับผลกระทบ
  6. ดำเนินการวางแผน ออกแบบ และปฏิบัติ ซึ่งเกิดจากการตัดสินใจการใช้ที่ดินขององค์กร โดยส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
  7. ป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่เกษตรกรรม ในกรณีที่มีการพัฒนาอาคารและมีงานก่อสร้างขององค์กร
  8. นำแนวทางการทำเกษตรอย่างยั่งยืน การทำประมงอย่างยั่งยืน การดูแลสวัสดิภาพสัตว์ และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน มาใช้ในกรณีที่สามารถดำเนินการได้
  9. สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ส่งมอบที่มีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการและเทคโนโลยีที่รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
  10. ปกป้องสวัสดิภาพของสัตว์ป่า และถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าให้เป็นไปตามระบบนิเวศทางธรรมชาติ ในกรณีที่สามารถดำเนินการได้
  11. หลีกเลี่ยงการคุกคามต่อความอยู่รอด หรือนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และท้องถิ่น รวมถึงการแจกจ่ายหรือขยายสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในท้องถิ่น

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts