วันเสาร์ที่ 31 พ.ค. 2557 ผมได้เข้าอบรมหลักสูตร “Innovative Trainer” กับ อ.ไชยยศ ปั้นสกุลไชย เป็นวันที่ 2 ก็ได้ทำการบ้านที่อาจารย์มอบหมายในเรื่องการปรับแก้ Course Outline, เขียน Program Timetable และเตรียมการสอนไปเพื่อสอนในเวลา 15 นาที
เริ่มต้น Class ด้วยกิจกรรม “หาคนทำงาน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่อาจารย์ไชยยศ นำมาใช้ในวันนี้ ในมุมมองที่จะโน้มน้าวให้ผู้อื่นเห็นด้วย ผมเองถึงแม้จะเคยเล่นเกมนี้มาแล้ว และรู้เฉลยแล้ว แต่ตอนที่เข้าไปช่วยคิดในกลุ่มโดยแสร้งทำเป็นไม่รู้ พยายามโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตามด้วยคำพูดประกอบเหตุผลต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถโน้มน้าวให้เชื่อได้ แต่พอตอนเฉลยนั้นอาจารย์ไชยยศ ได้โน้มน้าวให้ผู้เรียนคิดตามด้วยการคิดด้วยเหตุผล และใช้ตาราง Matrix ในการไล่เงื่อนไขต่างๆ ว่าคนไหนทำงานในตำแหน่งไหน ด้วยการเขียนลง Flipchart ให้ผู้เรียนคิดตามไปด้วย เรียกได้ว่าอธิบายวิธีคิด พร้อมทำให้เห็นเป็นภาพ (Visual) ก็จะโน้มน้าวผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
ต่อจากนั้นอาจารย์ไชยยศ ก็ให้ชิ้นไม้มา 2 ชิ้น และให้ต่อกันให้เป็นรูปปิรามิด ก็สนุกดีเหมือนกันถึงแม้ว่าผมเองจะต่อไม่ได้ก็ตาม
แล้วก็มาถึงคิวของอาจารย์เบญจ์ ลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของอาจารย์ไชยยศ ได้มาสอนทำ QR Code ด้วยตัวเอง ตกเย็นผมก็มาทำ QR Code ของร้าน House of Commons – Café&Space ได้ผลงานตามรูปครับ
ขั้นตอนการทำ QR Code ง่าย ๆ ที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์เบญจ์ มีดังนี้ครับ
- ไปที่ website: goqr.me
- เลือก icon ที่ต้องการจะ link QR Code ไปที่ website ที่เราต้องการ หรือไปที่ข้อความที่เราต้องการให้แสดง
- ใส่ Information ของ website ที่เราต้องการ link ไป หรือรายละเอียดข้อความที่เราต้องการให้แสดง
- เลื่อนลงมาที่ Live Preview กด Download
- เลือกรูปแบบไฟล์เป็นแบบ JPEG
- กด SAVE Image
หลังจากที่เรียนรู้แล้ว ก็ถึงเวลาที่ผู้เรียนแต่ละคนต้องออกมาสอนคนละ 15 นาที สำหรับตัวผมเองแม้จะตัดเนื้อหาบางส่วน และ Clip Video ออกไปแล้ว ก็ยังควบคุมเวลาได้ไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแบ่งจำนวนกลุ่มมากเกินไป ทำให้ต้องเสียเวลาในการพูดคุยสิ่งที่เรียนรู้กับแต่ละกลุ่ม และกิจกรรม Jigsaw ที่เตรียมมาก็เผื่อเวลามามากเกินไป เพราะอยากให้ต่อได้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่จำเป็น ทำให้ออกมาย้วยเหมือนเดิมใช้เวลาเกิน 15 นาที แต่ก็ยังไม่เข้าประเด็น ที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากมุมมองอาจารย์เอ-วรยุทธ์ ก็คือ อาจแบ่งต่อ Jigsaw เป็น 2 รอบก็ได้ รอบแรกให้ต่อด้วย Jigsaw ที่มีให้โดยไม่มีภาพ Jigsaw ที่ต่อสมบูรณ์ให้ รอบที่สองจึงค่อยให้ภาพ Jigsaw ที่ต่อสมบูรณ์ให้ ซึ่งเวลาที่ให้แต่ละรอบก็ไม่ต้องมากแค่รอบละ 1-2 นาที แล้ววัดจำนวนชิ้นที่ต่อได้เปรียบเทียบกัน
ส่วนประเด็นเรียนรู้ทั่ว ๆ ไปที่ได้รับฟังอาจารย์ไชยยศ ให้ Feedback ผู้เรียนแต่ละคนมีดังนี้
- การใช้กิจกรรม Role Play เพื่อให้เห็นพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แล้วค่อยนำไปสู่เนื้อหาคนแต่ละสไตล์
- การควบคุมเวลาในการให้แต่ละกลุ่ม Share ประเด็น อาจจะทำให้กระชับโดยให้กลุ่มที่ทำได้สำเร็จ Share KSF
- ต้องเชื่อมโยงเนื้อหา/กิจกรรมที่ทำ ไปสู่งานจริงของผู้เรียน
- วิทยากรต้องเตรียมให้พร้อม เช่น นาฬิกาจับเวลา, Slide ที่จะขึ้นจอต้องไม่ติดขัด, Handout
- ต้องดูให้ดีความสอดคล้องของโครง กับเนื้อหา และต้องเตรียมในเรื่อง Debrief เพื่อสรุปให้เข้าประเด็น
- การเลือกใช้ภาษาให้ใช้คำธรรมดา ๆ ง่าย ๆ Simple Word
- การสอนทักษะ ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และควรยืนอยู่ฝั่งเดียวกับผู้เรียน
- ชื่อ Title ไม่ควรจะกว้างเกินไป ควรให้ Match กับเนื้อหาหลัก
- การอ้าง Reference ต้องชัดเจนว่าจากแหล่งไหน
- ควรเลือก Case ให้เหมาะกับกลุ่มผู้เรียน
- หากจะใช้เกมกิจกรรมในการสอน ต้องแน่นกติกา และเกณฑ์ตัดสิน ที่สำคัญอย่าลืมของรางวัล
- กิจกรรมที่เลือกใช้ควรให้เหมือน ๆ กันก่อนเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจตรงกันก่อน
- การเลือกใช้ Story Telling ต้องมี moment ที่จะเจาะลึกลงไป ขยี้ลงไปว่ารู้สึกอย่างไร
- ต้องเน้นในเรื่อง Linkage ให้ชัดว่าสุดท้ายแล้วเนื้อหาที่ให้ไป จะนำไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร
และนอกจากได้เรียนรู้จากอาจารย์ไชยยศแล้ว ก็ยังได้เรียนรู้จากน้องธัญย์ – ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ อีกด้วย สิ่งที่น้องธัญย์นำมาแบ่งปันคือ “สามเหลี่ยม ยิ้มสู้ คิดบวก”
H – Hopeful, E – Effort, L – Learner, P – Patient, E – Encourage, R – Realism
สิ่งสำคัญที่น้องธัญย์เล่าให้ฟัง คือ ตัว R – Realism การยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด น้องธัญย์เลยเลือกให้เป็นฐานของปิรามิด
นี่คือรูปที่ผมถ่ายคู่กับน้องธัญย์ น้องธัญย์บอกว่าชอบตาของพี่บุญเลิศมาก ตอนที่เล่นเกม Tone of Voice ที่พูดคำว่า “ไปไหนมา”
สุดท้ายอาจารย์ไชยยศ ได้แนะนำการทำแผนการสอน (Lesson Plan) อย่างละเอียดว่าใช้ เทคนิค/วิธีการสอนอะไร, ชุดเครื่องมือที่ต้องเตรียมให้พร้อมในช่วงการสอนนั้น และบทพูด (Key Message) โดยอาจารย์ได้ยกตัวอย่างด้วยการสอนจริงเรื่อง
“การพูดโน้มน้าวผู้ฟังด้วยเทคนิค PAJES”
P – Personal experience (อ้างอิงประสบการณ์ตรงของวิทยากร)
A – Analogy (อุปมาอุปไมย ให้ผู้เรียนเห็นภาพ เข้าใจง่าย)
J – Judgement of experts (อ้างผู้รู้/สถาบัน ที่น่าเชื่อถือ)
E – Example (ยกตัวอย่างประกอบ ให้เข้าใจอย่างชัดเจน)
S – Statistics (ใช้ข้อมูลตัวเลข สถิติ มาอธิบาย)
ซึ่งสิ่งที่อาจารย์ไชยยศได้แสดงให้เห็น และมาเฉลย Lesson Plan ที่อาจารย์เตรียมมานั้น จะเห็นได้ถึงความสำคัญของการ Lesson Plan ได้ดีก็จะช่วยให้การสอนบรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ เปรียบไปก็เหมือน “การวางแผนที่ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง”
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com