fbpx

เรียนเป็นเล่น เล่นเป็นเรียน

(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ​26/01/2557)

“เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น” คำพร่ำสอนของผู้ใหญ่ที่เน้นย้ำต่อเด็ก ๆ ในเรื่องระเบียบวินัย ความตั้งใจสนใจเรียนอย่างจริงจัง จนทำให้เรื่องเรียนกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ พอถึงเวลาเล่นเด็กส่วนใหญ่ก็นิยมเล่นเกมผ่านมือถือ แท็บเล็ต หรือไม่ก็ไปตามร้านเกมต่าง ๆ แถวบ้านซึ่งเปิดบริการ 24 ชั่วโมง จนกลายเป็นแหล่งมั่วสุมสำหรับเด็ก เริ่มต้นจากเล่นเกม ไปจนถึงหัดสูบบุหรี่ ซิ่งมอเตอร์ไซค์ต่าง ๆ นานา

คำถามก็คือ จะทำอย่างไร? หรือมีทางเลือกอื่นอีกไหมที่จะทำให้เด็กได้เล่น และได้เรียนรู้ ไปในเวลาพร้อม ๆ กัน ตาม Concept การเรียนรู้แบบเพลิน ๆ คือ Play + Learn = Plearn

ย้อนกลับไปในสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กนั้น ก็จะมีพวกเกมเศรษฐี เกมโดมิโน เกม Scrabble ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะในการคิดคำนวณ และทักษะภาษาอังกฤษ ส่วนวิดีโอเกมส์เพิ่งเริ่มเป็นที่นิยม แต่ที่ผู้เขียนนิยมเล่นมากที่สุด ก็คือ หมากรุกจีน ซึ่งช่วยพัฒนาในเรื่องการมองภาพรวม การวางแผนกลยุทธ์ และการตัดสินใจแก้ปัญหา

หลังจากนั้นเมื่อมาได้มีโอกาสทำงานด้านการศึกษาที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ก็ได้เรียนรู้แนวคิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) หรือที่เรียกว่าทฤษฎีการเรียนรู้แบบ Constructionism ก็เลยทำให้พบว่ามีเครื่องมือการเรียนรู้หลายอย่างที่น่าสนใจมาก เช่น โปรแกรม MicroWorld ที่พัฒนาโดย MIT หรืออย่างชุดตัวต่อ Lego Robolab ที่มีชุดประมวลผล และหน่วยความจำ ที่สามารถบังคับตัวต่อ Lego ที่เราต่อขึ้นให้สามารถเคลื่อนไหวได้

หลังจากนั้นผู้เขียนก็ได้นำแนวคิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing) ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบหลักสูตรต่าง ๆ ในด้าน Productivity Improvement ให้กับบริษัทที่ได้ร่วมงานด้วย เช่น เครือซิเมนต์ไทย เครือเบทาโกร

การที่ผู้เขียนได้พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเกมในการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ และจากการที่ได้พูดคุยกับน้องที่ร้าน House of Commons – Café & Space ก็พบว่าแท้จริงแล้วเกมกระดานที่นิยมเล่นกันเมื่อก่อน อย่างเกมเศรษฐีนั้น เป็นเกมที่ถูกพัฒนาจากฝั่งประเทศอเมริกา แต่จะมีเกมกระดาน หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Board Game อีกแนวหนึ่งที่ถูกพัฒนาโดยประเทศในโซนยุโรป หลัก ๆ คือ ประเทศเยอรมัน ที่มีลักษณะการออกแบบเกมแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัด คือ เกมถูกออกแบบมาอย่างดี ให้มีการแข่งขันระหว่างผู้เล่นที่เน้นการวางแผนมากกว่าโชคจากการทอยลูกเต๋า หรือการจั่วไพ่ เพียงอย่างเดียว

BoardGame

นอกเหนือจากนี้แล้ว Board Game ยังช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นด้วยกันเป็นอย่างดี ได้มีการหยอกล้อกัน การเจรจาต่อรองกัน ซึ่งจากการที่ได้ไปซื้อ Board Game มาทดลองเล่นที่ร้านกับลูกค้า ก็พบว่าน้องคนนี้ปกติเป็น “Generation ก้ม” คือ ก้มหน้าก้มตาจิ้มมือถือ และ iPad อยู่เกือบตลอดเวลา พอได้มาเล่ม Board Game ก็สามารถหลุดออกจากโลก Social Media ได้เลย

จากการที่ผู้เขียนได้เริ่มเล่นเกมแรก คือ Power Grid ก็มีความรู้สึกชื่นชอบมาก เพราะต้องใช้ทักษะในการวางแผนการวางโครงข่ายโรงไฟฟ้า รวมไปถึงการวางแผนการประมูลโรงไฟฟ้า และการวางแผนการซื้อเชื้อเพลิงที่มีภาวะราคาขึ้นลงตามความต้องการของตลาด

สำหรับผู้สนใจ Board Game เพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.boardgamegeek.com/

และร้าน House of Commons – Café & Space ในวันเสาร์ และอาทิตย์ ได้เปิดเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับผู้สนใจเล่น Board Game โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/HOCSpace

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts