(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 11/05/2557)
ในท่ามกลางวิกฤติปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีผู้ใหญ่หลายท่านได้แนะให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อพูดคุยหาทางออกของปัญหา ด้วยวิธีการสุนทรียสนทนา (Dialogue)
จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยเข้าร่วมวง Dialogue ก็ได้เรียนรู้มุมมองที่เป็นประโยชน์หลายประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้
1. “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) ไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะสามารถนำใช้ในการแก้ปัญหาใดก็ได้ในทันที แต่ Dialogue คือ จุดเริ่มต้นกระบวนการในการเรียนรู้ร่วมกัน โดยการปล่อยวางความคิด ห้อยแขวนคำพิพากษาไว้ก่อน อย่าเพิ่งด่วนตัดสินความคิดคนอื่น ดังนั้นจึงต้องมีกติกาว่า คนที่มีสิทธิ์พูดนั้น คือ คนที่ถือแท่ง Indian Stick เพราะต้องการให้ทุกคนที่เหลือตั้งใจฟังคนที่พูด หรือกติกาในวงที่ว่า เมื่อพูดจบแล้ว จะต้องคั่นให้คนอื่น ๆ ภายในวงพูดบ้าง 4-5 คน จึงจะสามารถใช้สิทธิ์พูดได้ เพราะจะได้ทำให้เราปล่อยวางความคิด ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่น อันนี้เราสามารถ check กับตัวเองได้ว่าเราปล่อยวางจริงไหม ไม่ตัดสินจริงไหม ด้วยการฟังเสียงจากภายใน (Inner Voice) ในตัวเราเอง ว่าเวลาคนอื่นพูดอยู่ เราฟังอย่างตั้งใจหรือไม่ หรือเป็นเพียงทำท่านิ่งเงียบเหมือนตั้งใจฟัง แต่ภายในแล้วกลับมีเสียงจากภายใน (Inner Voice) ผุดขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ทั้งในความเห็นชอบ หรือเห็นแย้งกับความคิดของผู้ที่กำลังพูดอยู่ในวง
หากในกลุ่มปล่อยให้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันนี้ไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติก็จะเกิดกระบวนการของการเปลี่ยนถ่ายข้อมูล (Data) ไปสู่ปัญญาร่วมของกลุ่ม (Collective Wisdom) ได้ ตามวงจร
Data –> Information –> Knowledge –> Wisdom
ซึ่งแตกต่างจาก ปัญญาในเชิงปัจเจก (Individual Wisdom) ตามสุภาษิตไทยที่ว่า “หลายหัว ย่อมดีกว่า หัวดี”
2. ป่าช้า vs ป่าเร็ว
หลายคนมักมีคำถามว่ามาฝึกตั้งวง “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) กันแบบนี้ มันจะสามารถเอากลับไปใช้ชีวิตประจำวัน ในการทำงาน ในการประชุมได้จริงหรือ ในประเด็นนี้ผู้เขียนขออนุญาติ นำคำชี้แนะของ “หลวงพ่อกล้วย” แห่ง “วัดป่าธรรมอุทยาน” จ.ขอนแก่น ที่ได้ฟังมาตอนไปฝึกวิปัสสนาที่ป่าช้าในวัด กับ “ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ” ว่า
“…โยมรู้ไหม ทำไมอาตมาจึงให้โยมมาฝึกที่ป่าช้า เพราะป่าช้า อะไรต่าง ๆ นั้นมันช้า เวลาจิตเกิดอาการ ก็จะจับได้ มองเห็นชัด แต่ในโลกการทำงานของโยม มันคือ ป่าเร็ว มีอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้น และเข้ามากระทบโยมเยอะมาก หากไม่มีสติที่ดีก็จะจับไม่ทัน ตามรู้ไม่ทัน ดังนั้นมาฝึกที่ป่าช้า ก็คือ การมาซ้อมจับจิตให้ทัน ต้องฝึกบ่อย ๆ ถึงจะสามารถไปใช้ในสนามจริง คือ ป่าเร็ว หรือในที่ทำงานได้…”
การตั้งวง Dialogue นั้นก็คือ การสร้างป่าช้าในการฝึกฝนขึ้น เพื่อให้เราได้รู้ทันเสียงภายใน (Inner Voice) ของตนเอง
3. เปลี่ยน “หายนะสนทนา” (Debate) สู่ “สุนทรียสนทนา” (Dialogue)
การประชุมในที่ทำงานส่วนใหญ่ จะเป็นรูปแบบในการโต้เถียงที่ต้องการเอาชนะความคิดของฝ่ายตรงข้าม ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Debate” ผู้เขียนขอให้คำนิยามรูปแบบการโต้เถียงในที่ประชุมลักษณะนี้ว่า “หายนะสนทนา”
ลองจำลองสถานการณ์ดูนะครับว่า หากในการประชุมทีมงาน 5 คน แต่ละคนเสนอความคิดของตน เราจะได้ความคิดจากที่ประชุม 5 ความคิด จากนั้นก็ปล่อยให้เกิดการโต้เถียงภายในทีมงานเองว่าความคิดฉันดีกว่าความคิดเธอ เถียงกันไปมาจนได้ข้อสรุปออกมา 1 ความคิด สมมติว่าเป็นความคิดเห็นของสมาชิกในทีมคนที่ 4
ผู้เขียนเรียกข้อสรุปที่ได้ออกมาว่า “Better Solution” not “The Best Solution” คือ เป็นความคิดที่ดีกว่าความคิดของคนอื่น ๆ ภายในทีม แต่ถ้าเราอยากให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด “The Best Solution” นั้นจะต้องใช้กระบวนการ “สุนทรียสนทนา” (Dialogue) เข้าช่วยเพื่อให้เกิดปัญญาร่วม (Collective Wisdom) ในการหาทางออกแห่งปัญหา โดยสมาชิกทุกคนต้องปล่อยวางในความคิดตน ละอัตตาที่ถือมั่นในความคิดออกเสีย มองหาจุดดี จุดเด่น ของแต่ละความคิดเห็น นำไปสู่คำตอบใหม่ที่ผุดขึ้นมาเอง ตามการไหลเลื่อนของปัญญาภายในกระบวนกลุ่ม “สุนทรียสนทนา” (Dialogue)
คำตอบที่ได้มานี่แหละ จึงจะเรียกว่า “The Best Solution” อย่างแท้จริง
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com