ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พบกับกัลยาณมิตรที่ดีที่มีความตั้งใจที่ดีในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ท่านแรก คือ ดร.ไสว บุญมา อดีตเศรษฐกรอาวุโสของ World Bank ผู้ก่อตั้งมูลนิธินักอ่านบ้านนา และคุณสุภกร บัวสาย กรรมการ และเลขานุก่าร ในคณะกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ในเวที “ล้อมวงคุย กับ ดร.ไสว บุญมา” ที่จัดขึ้นที่ร้าน House of Commons – Cafe&Space ถ.เจริญนคร ซึ่งเป็นร้านกาแฟ ที่มีหนังสือดี ๆ และกิจกรรมดี ๆ จัดขึ้นอยู่เป็นประจำ ตั้งอยู่หน้าทางเข้ามูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป (สวนเงินมีมา) หากท่านสนใจว่าที่ร้านนี้จัดกิจกรรมอะไรบ้าง สามารถเข้าไปติดตามได้ที่ http://www.facebook.com/HOCSpace
ประเด็นที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็คือ ประเด็นในเรื่องคุณภาพของการศึกษาไทย ที่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็กไทย และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคต สาเหตุส่วนหนึ่งก็เนื่องจากขาดความชัดเจนในเรื่องของนโยบายระดับชาติว่าเราจะพัฒนาประเทศไทยไปในทิศทางใด เราจะต้องเตรียมพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของประเทศได้อย่างไร
เมื่อขาดทิศทางที่ชัดเจนก็ทำให้การพัฒนาระบบการศึกษาไทยที่มีอยู่ ถูกพัฒนาไปตามศักยภาพที่มีอยู่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้โรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือยิ่งไปเทียบกับโรงเรียนเอกชน ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนมากขึ้น
แล้วเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่องค์กรคาดหวัง ทำให้มีหลายบริษัท เช่น CP All ก่อตั้งสถาบันปัญญาภิวัฒน์ หรือบางบริษัทก็ไปทำโครงการทวิภาคีร่วมกับวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคนให้รองรับกับธุรกิจของตนเอง ซึ่งบริษัทต่าง ๆ เหล่านี้เทียบเป็นสัดส่วนแล้วก็เพียง 10-15% ของตลาดแรงงานทั้งหมด
คำถาม ก็คือ แล้วจะทำอย่างไรกันดี ที่จะทำให้เด็ก และเยาวชนไทยที่เติบโตขึ้นมามีโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีมีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน ?
เวลามีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา คนโดยส่วนใหญ่มักจะพุ่งตรงไปที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นหลัก แต่ถ้าเราขยายกรอบความคิดโดยการใช้เทคนิคการตั้งคำถามว่า “ทำไม”
“ทำไมการศึกษา ต้องอยู่ที่โรงเรียน มหาวิทยาลัยเท่านั้น ?”
กรอบความคิดในเรื่องนี้ก็จะถูกตีแผ่กว้างออกไป ตั้งแต่เด็กเริ่มปฏิสนธิ อยู่ในครรภ์ของมารดา ที่มีผลการศึกษาว่าการเปิดเพลง Mozart ให้เด็กฟังนั้นส่งผลให้เด็กจะมีพัฒนาการสมองที่ดี มีหนังสือหลายเล่มพูดถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เช่น หนังสือ “รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” หรือหนังสือ “เด็กตามธรรมชาติ”
ความสำคัญสภาพแวดล้อมของครอบครัว และของชุมชน ก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก และเยาวชนเช่นกัน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจ ส่งผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม เด็กหลายคนถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่กับบ้านกับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ หากปู่ย่าตายายปล่อยเด็กไว้โดยลำพัง โทรทัศน์ก็จะทำหน้าที่ในการเลี้ยงเด็กแทนในแบบ One-way Communication ถึงเวลาก็มีคนหาอาหารมาให้ทาน เรียกว่าหากอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เด็กก็จะเติบโตเฉพาะด้านร่างกายเท่านั้น แต่ในด้านสมองนั้นไม่ได้ถูกพัฒนาการเลย
เพราะฉะนั้นเราไม่อาจโยนภาระในเรื่องการพัฒนาการศึกษาของเด็ก และเยาวชนไทยไปให้กับผู้หนึ่งผู้ใด หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด รัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใด ได้เลย แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน
ดร.ไสว บุญมา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญในการส่งเสริมด้านการอ่าน มีการจัดประกวดนักอ่านบ้านนา และนักเขียนบ้านนา และมีสรุปประเด็นเนื้อหาจากหนังสือต่าง ๆ ให้เข้าไปอ่านกันได้ฟรีที่ http://www.bannareader.com
คุณสุภกร บัวสาย เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่สำคัญ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ที่จะช่วยผลักดันความคิดเห็นต่าง ๆ ในเรื่องการศึกษาไปสู่รัฐบาล
ส่วนผู้เขียนเองก็มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่แนวความคิดในเรื่องพัฒนาทักษะความคิดในด้านต่าง ๆ ได้แก่ แก่นหัวใจหลักแห่งทักษะคิดวิเคราะห์ (Heart of Analytical Thinking skills), ทักษะวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ (Systematic Problem Analytical skills) และ สุดยอดแห่งทักษะการตัดสินใจ (Triple Essential Decision skills) ให้กับโรงเรียน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ต่าง ๆ ที่สนใจ โดยสามารถติดต่อได้ที่ A@LERT Learning and Consultant – อาจารย์บุญเลิศ 062-9541441
“ปฏิรูปการศึกษาไทย ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง” เพราะ “รอให้คนอื่นเริ่มก็สายเสียแล้ว”
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com