การมุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์ ใส่ใจกระบวนการ (Focus on Objectives, Process Oriented) เป็นหลักการทำงานที่สำคัญที่จะนำไปสู่การทำงานที่ประสบความสำเร็จ การทำงานที่อยู่บนพื้นฐานเหตุ และผล ซึ่งแตกต่างจากการทำงานโดยที่มุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ (Result Oriented) แต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้สนใจเหตุปัจจัยที่มาที่ไปที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการ อันจะส่งผลทำให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ตรงจุด และการตัดสินใจใด ๆ เกิดความผิดพลาดได้
โดยการมุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์ ใส่ใจกระบวนการ (Focus on Objectives, Process Oriented) พื้นฐานที่สำคัญจะต้องมีกระบวนการคิดอย่างมีตรรกะ (Logical Thinking) ให้รู้ที่มาที่ไปและมองเห็นความเชื่อมโยง (Linkage) ระหว่างวัตถุประสงค์ที่ต้องการ กับกระบวนการที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เรียกได้ว่าต้องเป็นผู้ที่มีความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) และความคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นระบบ (Systematic Thinking)
ซึ่งเบื้องต้นจะต้องทำความเข้าใจในรูปแบบความคิด (Thought Model) ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ก็คือ
Input – Process – Output – Objectives
ซึ่งหากพิจารณาจากรูปแบบความคิดนี้โดยปกติคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป มักจะมีความคิดไล่เรียง
Input –> Process –> Output –> Objectives ???
ซึ่งจะพบว่าปัญหาที่เจอในการคิดแบบนี้ ก็คือ ทำไปแล้ว ไม่รู้ว่ากระบวนการ (Process) ที่ทำ ผลลัพธ์ (Output) ที่ออกมา ไปตอบวัตถุประสงค์ (Objectives) ที่ต้องการจริง ๆ หรือเปล่า ? ทำให้สูญเสียทรัพยากรที่เป็นปัจจัยนำเข้า (Input) ต่าง ๆ โดยเปล่าประโยชน์
แต่วิธีคิดที่ถูกต้องแล้วนั้นต้องเริ่มต้นที่วัตถุประสงค์ (Objectives) ที่ชัดเจนเสียก่อน ดังที่ Stephen R. Covey เขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ “7 อุปนิสัย สำหรับผู้ทรงประสิทธิผลยิ่ง” ในเรื่องเกี่ยวกับ “Begin with the End in Mind” ว่าการจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จนั้น จะต้อง “เริ่มต้นที่จุดหมายในใจ” ที่ชัดเจนเสียก่อน
ดังนั้นรูปแบบความคิดที่ถูกต้องจะต้องไล่เรียง ตามลำดับดังนี้
Objectives –> Output –> Process –> Input
ซึ่งรูปแบบความคิดที่ถูกต้องในการมุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์ ใส่ใจกระบวนการ (Focus on Objectives, Process Oriented) นั้นสามารถนำไปใช้ได้กับการทำงานทุกประเภท ซึ่งจะทำให้เราสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้ โดยสามารถออกแบบกระบวนการให้ตอบโจทย์ และเกิดการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้าผู้เขียนจะลาออกจากงานประจำมาทำอาชีพอิสระเป็น “วิทยากร” ผู้เขียนมีเป้าหมายในใจ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าอยากเป็น “วิทยากรมืออาชีพ” ก็ต้องมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าคำว่าเป็นมืออาชีพ คือ อะไร หน้าตาหรือผลลัพธ์ (Output) ที่เราต้องการเห็นคืออะไร แล้วจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัด (Indicator) จากนั้นก็ต้องคิดย้อนต่อไปอีกว่าแล้วจะต้องมีกระบวนการ (Process) อะไรบ้าง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ สุดท้ายก็ต้องคิดย้อนต่อไปอีกว่าเราต้องมีปัจจัยนำเข้า (Input) อะไรบ้าง เพื่อให้กระบวนการสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น บรรลุวัตถุประสงค์ ดังแสดงในตารางที่ 1.1
Objectives | วิทยากรมืออาชีพ |
Output
|
จำนวนวันบรรยาย 10 วันต่อเดือน |
Process
|
Product (Content)– พัฒนาหลักสูตรในหมวด ดังต่อไปนี้
1. การแก้ปัญหา และตัดสินใจ 2. การปรับปรุงกระบวนการทำงาน 3. ทักษะการคิด 4. ความรับผิดชอบต่อสังคม Product (Deliver Skills) – หมั่นทบทวน และฝึกฝนทักษะการเป็นวิทยากรที่ถ่ายทอดได้ดี Place – ช่องทางการขาย แบ่งออกได้เป็น 2 ช่องทางหลัก ๆ คือ 1. ช่องทาง In-House Training Ø รับงานผ่าน Organizer 2. ช่องทาง Public Training Ø สถาบันปัญญาธุรกิจ กรุงเทพธุรกิจ Ø สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น |
Input | Knowledge – ศึกษาหาความรู้เพิ่ม
Relation – การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี |
หวังว่าแนวความคิด “มุ่งเน้นที่วัตถุประสงค์ ใส่ใจกระบวนการ (Focus on Objectives, Process Oriented)” จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้นะครับ
หากมีข้อเสนอแนะใด ๆ สามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com