fbpx

(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ​05/01/2557)

ในช่วงที่ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานในธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย SCG-Paper ระหว่างปี 2540-2549 ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานในหลากหลายตำแหน่ง หนึ่งในนั้น คือ ตำแหน่ง Learning Facilitator

ในช่วงนั้นผู้เขียนเรียนรู้ในการเป็น Learning Facilitator จากการไปเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ในแนวทาง Constructionism ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ที่คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา นำมาใช้ที่โรงเรียนนี้เป็นแห่งแรก หลังจากการเรียนรู้กับเด็ก ๆ เป็นเวลา 1 ปี ก็กลับมาทำโครงการ C-PULP เพื่อพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ให้กับพนักงานระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด และทักษะการแก้ปัญหา

จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเองได้คลุกคลีสัมผัสกับผู้เรียนทั้ง 2 วัย คือ ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ผู้เรียนอายุจะอยู่ระหว่าง 6-12 ปี ส่วนโครงการ C-PULP นั้น ผู้เรียนอายุตั้งแต่ 30-42 ปี เลยทำให้ค้นพบว่า เด็กกับผู้ใหญ่ มีสไตล์การเรียนรู้ที่ต่างกัน ที่เห็นได้ชัด ๆ เลย มีอยู่ 2 ประเด็น

  1. ความอยากรู้อยากเห็น ความกล้าที่จะถาม
  2. ความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าที่จะคิด

ความสามารถในการเรียนรู้แท้จริงแล้ว มีอยู่ในตัวแต่ละคนตั้งแต่เกิด หรืออาจกล่าวได้ว่ามันคือ สัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์ เฉกเช่นเดียวกับสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด หรือ สัญชาตญาณในการดำรงเผ่าพันธุ์

LearningInstinct

แต่น่าแปลกที่สัญชาตญาณการเรียนรู้ของผู้ใหญ่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็ก อะไรที่ทำให้สัญชาตญาณการเรียนรู้เหล่านี้ที่มีอยู่อย่างล้นเปี่ยมในวัยเด็ก กลับหดหายไปเมื่อเราเติบโตขึ้น

หากเปรียบเทียบกับสัตว์ป่าอย่างเช่น เสือ สิงโต ซึ่งมีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการไล่ล่าสัตว์อื่นเป็นอาหาร แต่พอมนุษย์จับเสือ สิงโต เข้ามาอยู่ในสวนสัตว์แล้วคอยป้อนอาหาร และน้ำ อย่างเป็นเวลา ก็จะทำให้ความสามารถในการไล่ล่าสัตว์อื่น ค่อย ๆ เลือนหายไป แต่แท้จริงแล้วก็ยังคงมีซ่อนอยู่

ใช่แล้วสัญชาตญาณการเรียนรู้ของมนุษย์ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป เมื่อต้องเข้าไปเรียนรู้อยู่ในระบบที่ยึดผู้สอนเป็นศูนย์กลาง เน้นการป้อนข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้เรียนจดจำ คนเก่งในระบบนี้ คือ คนที่จดจำได้มากกว่า แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจำไปทำไม จำแล้วเอาไปใช้อย่างไร เมื่อผู้เรียนเคยชินกับระบบการป้อนข้อมูลแบบนี้ตั้งแต่อนุบาล จนถึงปริญญาตรี ก็จะทำให้เคยชินกับการที่ต้องมีผู้อื่นมาป้อนข้อมูลให้ตลอดเวลา

หากต้องการปลุกสัญชาตญาณการเรียนรู้ให้ฟื้นคืนชีพมาอีกครั้ง ต้องเริ่มต้นจากแนวคิด

1. FACE TO FEAR

การเผชิญหน้ากับความกลัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลัวขายหน้า กลัวล้มเหลว เพื่อปลุกสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็น ความกล้าที่จะถาม

2. FACE TO FRAME

การเผชิญหน้ากับการยึดติดกรอบ กฎระเบียบต่าง ๆ แนวคิดเดิม ๆ ทัศนคติเดิม ๆ เพื่อปลุกสัญชาตญาณความคิดสร้างสรรค์ ความกล้าที่จะคิด

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts