“ทักษะการคิด เพื่อแก้ปัญหา”
“ครู ครู โจทย์เลขข้อนี้ทำอย่างไงค่ะ ?” เสียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งร้องเรียกขึ้น
เด็กผู้หญิงคนนี้ เธอเป็นลูกสาวของเจ้าของอู่ซ่อมรถข้างร้านกาแฟของผู้เขียน มักจะแวะเวียนเข้ามานั่งที่ร้าน และคอยช่วยเหลืองานเล็ก ๆ น้อยตามที่เธอจะช่วยได้ เช่น เสิร์ฟน้ำ เก็บแก้ว เช็ดโต๊ะ ปัจจุบันเธอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง
“อ้าว ลองอ่านโจทย์ให้ฟังหน่อยซิ ว่าเขียนไว้อย่างไร” ผู้เขียนกล่าวตอบไป
“รถยนต์คันหนึ่งราคา 390,000 บาท เสียภาษีนำเข้า 400,000 บาท ถามว่าต้นทุนรถยนต์คันนี้ราคากี่บาท ?” เด็กน้อยอ่านโจทย์ให้ฟัง
“แล้วหนูคิดยังไง ?” ผู้เขียนถามต่อ
“ก็คิดอย่างนี้ก็เอา 390,000 ลบด้วย 400,000 ก็เท่ากับติดลบหนึ่งหมื่นบาท” หนูน้อยตอบ
ผมเริ่มเอื้อมมือไปหยิบหนังสือเพื่อมาอ่านโจทย์ข้อนั้นอีกครั้ง เริ่มพบแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอเข้าใจผิด แต่ก่อนจะเริ่มอธิบายต่อไปก็เริ่มถามเธอต่อว่า
“แล้วในห้องคุณครู สอนอะไรบ้าง ?” ผู้เขียนซักถามรายละเอียด
“คุณครูส่วนใหญ่ก็สอน วิธีการบวก และลบเลขจำนวน 5 หลัก 6 หลัก” หนูน้อยตอบ
“แล้วตัวอย่างโจทย์ปัญหาแบบนี้ (ผู้เขียนพูดพร้อมชี้มือไปที่โจทย์) คุณครูมีสอนไหมครับ ?” ผู้เขียนถามต่อ
“มีนิดหน่อยค่ะ” หนูน้อยตอบสั้น ๆ
เมื่อถึงตรงนี้ ผู้เขียนเลยถึงบางอ้อว่าเพราะเหตุใดที่ทำให้เธอทำโจทย์การบ้านข้อนั้นไม่ได้ ก่อนจะเริ่มอธิบายด้วยการวาดรูปภาพประกอบให้เธอเห็นชัดขึ้น โดยยกตัวอย่างว่าถ้าคุณพ่อของเธอสั่งซื้อรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเพื่อที่จะขายในประเทศไทย ราคาที่ซื้อที่ประเทศญี่ปุ่น 390,000 บาท เมื่อรถยนต์มาถึงที่ท่าเรือต้องเสียภาษีนำเข้าอีก 400,000 บาท แสดงว่าคุณพ่อของเธอต้องจ่ายเงินทั้งหมดกี่บาท ? เมื่ออธิบายมาถึงตรงนี้เธอก็ถึงบางอ้อเหมือนกัน
จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนย้อนกลับมาคิดถึงงานวิทยากรที่ผู้เขียนไปทำหน้าที่บรรยายเพื่อพัฒนาความรู้ และทักษะให้กับพนักงานในองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน หน่วยงานราชการ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
“วิธีการบวก และลบ” หากเปรียบไปก็เหมือน “ความรู้ และเครื่องมือต่าง ๆ” ที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะนำไปใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ส่วน “ขั้นตอนการทำความเข้าใจโจทย์” หากเปรียบไปก็เหมือน “การวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง” ที่ผู้เรียนต้องฝึกฝนวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ?
ดังนั้นในหลักสูตรที่ผู้เขียนพัฒนาขึ้นทุกหลักสูตร จะแบ่งสัดส่วนเวลาการเรียนรู้เน้นไปที่ทักษะการคิดวิเคราะห์ เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หาไม่แล้วก็จะได้เรียนรู้ “ความรู้ และเครื่องมือต่าง ๆ” แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ เปรียบไปก็เหมือนที่เด็กน้อยเรียนรู้ “วิธีการบวก และลบ” แต่ยังไม่สามารถแก้โจทย์ปัญหาได้
หากจะเจาะลึกลงไปในเรื่องของการแก้ปัญหา และการตัดสินใจ (Problem Solving and Decision Making) นับเป็นทักษะที่จำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหาร และผู้จัดการทุกคน เพราะในแต่ละวันในที่ทำงานย่อมมีสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แล้วจะทำอย่างไรกับสถานการณ์เหล่านั้น
การวิเคราะห์สถานการณ์ (Situation Analysis) เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการทำความเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ให้ถ่องแท้ ก่อนที่จะ
- แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น (Problem Solving)
- ตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ (Decision Making)
photo credit: http://www.flickr.com/photos/8136122@N06/3886848645
ขอยกตัวอย่างของร้านกาแฟ House of Commons – Café&Space ที่ผู้เขียนเองเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย ปัจจุบันนี้มีร้านทั้งหมดอยู่ 2 สาขา คือ สาขาแรกอยู่ที่ถนนเจริญนคร ระหว่างซอย 20 กับ 22 และสาขาที่ 2 อยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป เจ้าฟ้า
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ยอดขายที่ร้านสาขาพิพิธภัณฑ์หอศิลป เจ้าฟ้า ลดน้อยลงจากเดิมอย่างมาก เมื่อเราเจอสถานการณ์เช่นนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง ?
- เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น (Problem Solving) ต้องนำข้อมูลอะไรบ้างมาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ยอดขายย้อนหลัง, ข้อมูลการจัดนิทรรศการในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ, ข้อมูล Feedback จากลูกค้า ฯลฯ
- เพื่อตัดสินใจเลือกทางเลือกต่าง ๆ (Decision Making) ในสถานการณ์เช่นนี้มีทางเลือกใดบ้าง
a. ตัดสินใจเปิดขายต่อไป โดยคาดหวังว่าหลังจากแก้ไขปัญหาต่าง ๆ แล้ว ยอดขายจะฟื้นตัว
b. ตัดสินใจเซ้งกิจการ พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ
c. ตัดสินใจปิดกิจการ
จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดใดก็ตามไม่ว่าจะเล็ก กลาง หรือใหญ่ ก็ย่อมล้วนมีสถานการณ์ที่ให้ขบคิดเพื่อแก้ปัญหา และตัดสินใจ ด้วยกันทั้งสิ้น
ดูรายละเอียดหลักสูตร “Systems Problem Solving and Decision Making”
สนใจฝึกอบรมติดต่อ A@LERT Learning and Consultant
คุณชลมารค (มิลค์) 098-763-3150
คุณทิพย์สุวรรณ (เพชร) 081-711-3466
contact@nairienroo.com
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com