เมื่อวานนี้ (01/12/2558) ได้มีโอกาสอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในหน้า 7 คอลัมน์ “หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน” ที่ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ “ศูนย์เรียนรู้วิถีพอเพียงเครือเบทาโกร”
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรชั้นนำของประเทศ ได้นำแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวง มาปฏิบัติให้เกิดผล ได้ประโยชน์ทั้งในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของรีสอร์ทเอง และเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเผยแพร่แนวคิดเกษตรพอเพียง ให้กับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้
ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อองค์กรชั้นนำของประเทศจัดทำ “ศูนย์เรียนรู้” ขึ้นมาก็คงต้องทำให้เสมือนโชว์รูม มีการทุ่มเทงบประมาณ และจัดสรรบุคลากร เพื่อจัดการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของรีสอร์ท และองค์กรเอง
แต่ในอีกด้านหนึ่งคงเป็นคำถามสำหรับใครหลาย ๆ คนที่ได้มีโอกาสไปดูงานที่ “ศูนย์เรียนรู้” ต่าง ๆ ที่มีกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่บริหารงานโดยภาครัฐ หรือที่บริหารงานโดยภาคเอกชน อย่างเช่น เครือเบทาโกร ว่าแท้ที่จริงแล้วจะเกษตรกรจะสามารถนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพจริงที่ต้องหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว และส่งลูกหลานเล่าเรียนได้มากน้อยเพียงใด ? เพราะคิดว่าติดขัดเงื่อนไขงบประมาณ และทรัพยากรที่ไม่สามารถมีเหมือนองค์กรภาครัฐ หรือองค์กรภาคเอกชน
ดังนั้นหากเปรียบไปการจัดทำ “ศูนย์เรียนรู้” ก็เสมือนการเพาะเลี้ยงต้นกล้า เมื่อต้นกล้าเจริญงอกงามดีแล้ว จะนำไปลงแปลงเพาะปลูกจริงอย่างไรให้เกิดผลเจริญงอกงาม
เพราะฉะนั้นเพื่อให้สามารถ “ต่อยอดศูนย์เรียนรู้ ไม่ให้สูญสลาย กลายเป็นศูนย์” นั้นจะต้องมีแปลงสาธิต ที่มีการบริหารพื้นที่รกร้างว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ขององค์กร ทำการจัดสรรให้กับครอบครัวเกษตรกรผู้ด้อยโอกาส ที่ขาดแคลนพื้นที่ทำกิน หรืออาจจะเริ่มต้นจากครอบครัวของพนักงานในองค์กรเองที่มีภาระหนี้สิน โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะต้องมีความเข้าใจในหลักการวิถีเกษตรพอเพียง ทั้งในเรื่องการจัดการด้านการเกษตร และการจัดทำบัญชีครัวเรือน โดยองค์กรทำหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยง (Facilitator) ในด้านการบริหารจัดการในบางเรื่องเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะต้องไม่ให้เงินสนับสนุนแบบให้เปล่าใด ๆ ทั้งสิ้น อาจจะจัดสรรเป็นเงินกองทุนกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกับธกส. หรือสหกรณ์การเกษตร รวมไปถึงค่าเช่าที่ก็ควรคิดตามความเหมาะสม
ทั้งนี้เพื่อเป็นการพิสูจน์ได้ว่า การดำเนินชีวิตตามหลักวิถีเกษตรพอเพียงอย่างแท้จริง จะต้องมีพื้นที่ทำกินอย่างน้อยกี่ไร่ ? จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข สามารถส่งลูกหลานเล่าเรียนให้มีโอกาสทางการศึกษาเทียบเท่าผู้อื่นได้
แม้ว่าแปลงสาธิตที่ให้เกษตรกรเข้ามาใช้พื้นที่จริง จะไม่มีความสวยงามที่จะสามารถใช้เป็นโชว์รูมได้ แต่ก็จะเป็นการแสดงให้เห็นการใช้ชีวิตจริง (Reality Show) ตามหลักวิถีเกษตรพอเพียง ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดด้านงบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านโดยทั่วไปสามารถเข้าถึง และนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com