“ดูแลพนักงานเสมือนหนึ่ง คนในครอบครัวเดียวกัน” หนึ่งในข้อความที่เห็นติดอยู่ที่โรงงาน ตอนเข้าไปทำงานที่โรงงานเยื่อกระดาษสยาม เครือซิเมนต์ไทย ช่างเป็นถ้อยความที่สร้างความอบอุ่นใจเป็นอย่างมาก และตอนทำงานอยู่ที่เครือซิเมนต์ไทยก็ได้รับการปฏิบัติเป็นอย่างดีทั้งในเรื่อง Safety ในการทำงาน และที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ การได้รับการฝึกอบรมและพัฒนาความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ตลอดเวลา
ในทัศนคติส่วนตัวนั้นในเรื่องการทำ CSR ในประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practice) ผู้บริหารเป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
“การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมจะเกิดขึ้นมิได้เลย
หากผู้บริหารองค์กรมองเพียงว่า…พนักงาน เป็น ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)
หากผู้บริหารองค์กรมองเพียงว่า…พนักงาน เป็น ทุนมนุษย์ (Human Capital)
แต่มิได้มองพนักงานว่าเป็น มนุษย์เช่นกัน”
ตัวอย่างที่จะนำมาเล่าเป็นกรณีศึกษาด้าน การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) ในบทความนี้จะเป็น “โครงการบัญชีชีวิต (ปลดหนี้) ของบริษัท ดอคคิวเมนท์ พาร์เซล เอ็กซ์เพรส จำกัด (DPEX)” จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากความตั้งใจของผู้บริหาร คือ คุณสมาน และคุณรวิวรรณ ที่ต้องการปลดหนี้ให้กับพนักงาน เพราะคิดว่าเมื่อพนักงานเป็นหนี้ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานแน่ ๆ ก็เลยนำเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทมาเป็นกองทุนช่วยเหลือเริ่มต้น
“เงินหนึ่งล้านบาท เราก็เคยนำไปบริจาคช่วยเหลือสังคมภายนอกมามากมาย ทำไมครั้งนี้ถึงไม่นำมาช่วยคนของเราเอง” คุณสมานกล่าว
โครงการบัญชีชีวิต (ปลดหนี้) พนักงานจะต้องทำ “สัญญาใจ” เช่น เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกหวย เลิกการพนัน ไม่ก่อหนี้ใด ๆ เพิ่มอีก และจะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละวัน โดยผู้บริหารลงมาดูแลโครงการนี้ได้ด้วยตนเอง คอยดูแลพนักงานยิ่งกว่าลูก จนพนักงานสามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ
และบริษัท DPEX ก็ยังมีโครงการต่อยอดส่งเสริมให้พนักงานเก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณอีก
ในมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ได้ระบุ ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) ไว้อยู่ 5 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 1 : การจ้างงานและความสัมพันธ์ในการจ้างงาน (Employment and employment relationships)
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 2 : สภาพการจ้างและการคุ้มครองทางสังคม (Conditions of work and social protection)
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 3 : การสานเสวนาทางสังคม (Social dialogue)
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 4 : สุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน (Health and safety at work)
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 5 : การพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน (Human development and training in the workplace)
ซึ่งครอบคลุมการจ้างงานที่เป็นธรรม มีสภาพการทำงานที่ทำให้เกิด Work-Life Balance การเปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาต่อรองของลูกจ้าง การจัดสภาพการทำงานให้มีความปลอดภัย ด้วยแนวคิดที่ว่าอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล (PPE) นั้น จะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะนำมาใช้ในการดูแลพนักงาน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ สามารถออกแบบกระบวนการโดยทำการขจัดสภาพการทำงานที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงานได้หรือไม่ หากไม่ได้สามารถมีกระบวนการอย่างอื่นเข้ามาทดแทนได้หรือไม่ และท้ายสุด คือ เรื่องการฝึกอบรม และพัฒนาบุคลากร
ส่วนในรายละเอียดประเด็นทั้งหมด มีดังต่อไปนี้
การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices)
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 1 : การจ้างงานและความสัมพันธ์ในการจ้างงาน (Employment and employment relationships)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- มีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่หาช่องทางหลีกเลี่ยง ภาระหน้าที่ของนายจ้าง ซึ่งครอบคลุมทั้งการจ้างงานของผู้รับเหมา ผู้รับจ้างช่วง
- มีการวางแผนอัตรากำลังเพื่อหลีกเลี่ยงการจ้างงานบางเวลา เป็นบางครั้งบางคราว หรือการจ้างแรงงานชั่วคราวมากเกินไป ยกเว้นว่าลักษณะของงานนั้นเป็นงานระยะสั้น งานตามฤดูกาล หรืองานโครงการที่มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
- มีการแจ้ง และให้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพการจ้างงาน ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม และให้ผู้แทนลูกจ้างมีส่วนรวมในการหาแนวทางลดผลกระทบนั้น
- ไม่ปลดออก เลิกจ้าง และไล่ออกโดยไม่มีกฎเกณฑ์ หรือเลือกปฏิบัติ
- ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของลูกจ้าง
- มีขั้นตอนที่มั่นใจได้ว่า ผู้รับเหมา ผู้รับจ้างช่วงที่ทำงานให้กับองค์กร ได้รับการยอมรับตามกฎหมายหรือแสดงความรับผิดชอบในฐานะของนายจ้าง และถูกแสดงออกถึงความเท่าเทียมกัน
- ไม่หาผลประโยชน์จากความไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบ หรือกดขี่ด้านแรงงานจากคู่ธุรกิจ ผู้ส่งมอบ ผู้รับจ้างช่วง
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 2 : สภาพการจ้างและการคุ้มครองทางสังคม (Conditions of work and social protection)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรจัดให้มีสภาพการจ้างงานและให้การคุ้มครองทางสังคม ดังนี้
- มีสภาพการจ้างที่เหมาะสมครอบคลุมค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดพักผ่อนประจำปี วันหยุดตามประเพณี สุขภาพและความปลอดภัย การคุ้มครองความเป็นมารดา และความสามารถในการรับผิดชอบต่อครอบครัว
- อนุญาตให้ลูกจ้าง สามารถปฏิบัติตนตามประเพณีประจำชาติ หรือประเพณีตามศาสนา และประเพณีอื่น ๆ
- มีสภาพการจ้างที่ก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานและการดำเนินชีวิต และสามารถเทียบเคียงกับสภาพการจ้างงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอื่นที่คล้ายกันในท้องถิ่น
- กำหนดค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสภาพการจ้างงานตามกฎหมายหรือข้อตกลงร่วม และสะท้อนถึงการพิจารณาความเพียงพอต่อความต้องการของลูกจ้างและครอบครัว จากอัตราค่าจ้างในประเทศ ค่าครองชีพ หลักประกันทางสังคม มาตรฐานการครองชีพในกลุ่มอื่น ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
- วางแผนการดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุสำหรับพนักงาน
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 3 : การสานเสวนาทางสังคม (Social dialogue)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- กำหนดโครงสร้างการเจรจาต่อรองร่วมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างขององค์กร
- ยอมรับให้มีการจัดตั้งหรือรวมกลุ่ม ในการเจรจาต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้าง
- ไม่ปลด หรือไล่ออก หรือการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล หรือกลุ่มคนที่มีการจัดตั้งเพื่อการเจรจาต่อรอง รวมถึงการคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยวิธีการข่มขู่ หรือสร้างให้เกิดความกลัว
- จัดให้มีการแจ้งไปยังตัวแทนภาครัฐและผู้แทนของลูกจ้าง เพื่อให้เกิดการตรวจสอบร่วมกัน ในการบรรเทาผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นเท่าที่เป็นไปได้มากที่สุด ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานที่มีผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงาน
- แต่งตั้งผู้แทนลูกจ้าง เป็นผู้แทนในการร่วมปรึกษาหารือ หรือร่วมให้ความคิดเห็นกับผู้มีอำนาจตัดสินใจขององค์กร
- สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นจริงเกี่ยวกับสถานะการดำเนินธุรกิจ ผลประกอบการ และกิจกรรมขององค์กร
- หลีกเลี่ยงการมีส่วนรวมกับกลุ่มใด ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ในการสนับสนุน หรือโน้มน้าว ให้เกิดการจำกัดสิทธิเสรีภาพสากลในการสมาคมและการเจรจาต่อรอง
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 4 : สุขภาพ และความปลอดภัยในการทำงาน (Health and safety at work)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
1.พัฒนา ประยุกต์ใช้ และรักษา นโยบายด้านสุขภาพ อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน บนหลักการของความปลอดภัยและมาตรฐานด้านสุขอนามัย และความเท่าเทียมกันทั้งลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และผู้รับจ้างช่วง รวมถึงการจ้างงานนอกเวลา
2.วิเคราะห์และควบคุมความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์กร
3.กำหนดมาตรการจัดการความเสี่ยงตามลำดับขั้น ดังนี้
- การขจัด
- การทดแทน
- การควบคุมทางวิศวกรรม
- การควบคุมการจัดการ ขั้นตอนการทำงาน
- อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล
โดยคำนึงถึงสตรี สตรีมีครรภ์ สตรีหลังคลอดหรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร คนพิการ หรือลูกจ้างที่มีประสบการณ์ทำงานน้อยเป็นพิเศษ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในสภาวะฉุกเฉิน โดยให้พนักงาน คู่ธุรกิจ ภาครัฐ ชุมชนท้องถิ่นหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ เข้ามามีส่วนรวม ซึ่งแผนดังกล่าวควรรวมถึงการซ้อมแผน การทบทวนแผน และการสื่อสาร
4.สื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อกำหนดด้านความปลอดภัย เพื่อให้ลูกจ้างสามารถปฏิบัติและมั่นใจว่าลูกจ้างได้ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
5.บันทึกและสอบสวนอุบัติการณ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัย และปัญหาที่ได้รับแจ้งจากลูกจ้าง เพื่อทำการลดหรือกำจัดปัญหาดังกล่าว
6.มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสภาะจิตใจในสถานที่ทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและการเจ็บป่วยของลูกจ้าง
7.ให้การฝึกอบรมที่เพียงพอกับบุคลากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในด้านสุขภาพ และความปลอดภัย
8.ไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพและการตรวจวัดด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ให้เป็นหน้าที่ของลูกจ้าง
9.จัดระบบสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อม โดยการมีส่วนรวมของลูกจ้าง และให้การยอมรับและเคารพสิทธิของลูกจ้าง ในการ
- ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการความเสี่ยงอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- ได้รับคำปรึกษาในประเด็นด้านสุขภาพและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน
- ปฏิเสธงานที่ได้พิจารณาอย่างมีเหตุผลว่าอาจมีอันตรายหรือเกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตหรือสุขภาพของตนเองหรือชีวิตและสุขภาพของผู้อื่น
- แสวงหาคำปรึกษาด้านแรงงานจากภายนอก หรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ
- รายงานเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- เข้าร่วมในกิจกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ และความปลอดภัย รวมถึงการสอบสวนอุบัติการณ์และอุบัติเหตุ
ประเด็นการปฏิบัติด้านแรงงานที่ 5 : การพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรมในสถานที่ปฏิบัติงาน (Human development and training in the workplace)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- จัดให้ลูกจ้างทุกคนทุกระดับ ได้รับการฝึกอบรม การพัฒนาทักษะ การฝึกงาน และโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพบนพื้นฐานความเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ
- มั่นใจว่าลูกจ้างที่เร่ิมงานใหม่ จะได้รับการฝึกอบรม และได้รับคำแนะนำที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่
- จัดทำแผนงานร่วมกันระหว่างลูกจ้างและผู้บริหาร เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com