“ช่องสาริกา โมเดล” นับเป็นแนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนของเครือเบทาโกร ที่ได้นำแนวคิดในด้าน Productivity Management เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านใน ต.ช่องสาริกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โดยล่าสุดได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Productivity World ของ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ฉบับที่ 119 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2558)
ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์อย่างคุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ทำให้มองว่าการทำ CSR แบบเดิม ๆ ที่แจกทุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ด้อยโอกาส ยังไม่ได้ส่งผลให้ชุมชนเติบโตเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างใด
จึงตั้งโจทย์ที่คิดว่าจะสร้างกลไกการขับเคลื่อนในการทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร เพื่อให้เกิดผลที่แท้จริงต่อชุมชน และสามารถนำแนวคิดนี้ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิด “ช่องสาริกา โมเดล” ตามแผนภาพข้างล่างนี้
ซึ่งผู้เขียนได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานร่วมกับเครือเบทาโกร ในฐานะที่ปรึกษาของโครงการด้าน CSR ทำงานร่วมกับ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน (PDA) และทำงานร่วมกับผู้นำชาวบ้านในชุมชน เพื่อพัฒนาส่งเสริมให้ชาวบ้าน
- มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มผลผลิตในอาชีพหลัก (มันสำปะหลัง,ข้าวโพด,อ้อย,ข้าว)
- ลดค่าใช้จ่าย โดยนำแนวคิดปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ (ปลูกเอง กินเอง เหลือขาย รู้จักจดบัญชีรับจ่าย)
ซึ่งนับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้เขียนยินดีที่จะไปแลกเปลี่ยนแนวคิดนี้ให้กับองค์กรอื่น ๆ ที่มีความสนใจ เชิญติดต่อได้ที่เบอร์โทร 086-7771833
ในมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ได้ระบุถึงประเด็นที่บริษัทต่าง ๆ ควรเข้าไปมีส่วนรวมและพัฒนาชุมชน ไว้หลายประเด็นได้แก่
- การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community involvement)
- การศึกษาและวัฒนธรรม (Education and culture)
- การสร้างงานและการพัฒนาทักษะ (Employment creation and skills development)
- การพัฒนาและเข้าถึงเทคโนโลยี (Technology development abd access)
- การสร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน (Wealth and income creation)
- สุขภาพ (Health)
- การลงทุนด้านสังคม (Social investment)
โดยในรายละเอียด สามารถอ่านได้จากเนื้อหาด้านล่างนี้
การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน (Community involvement and development)
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 1 : การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community involvement)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
1.จัดให้มีตัวแทนขององค์กร เข้าปรึกษาหารือกับชุมชน เพื่อดำเนินกิจกรรมและการพัฒนาชุมชนร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ กลุ่มผู้เลือกปฏิบัติ กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่ถูกกีดกัน และกลุ่มคนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง
หมายเหตุ : กลุ่มคนชายขอบ หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มคนที่สังคมไม่สนใจเหลียวแล ถูกทิ้งขวางแปลกแยกจากสังคมกระแสหลัก เช่น ชาวเขา ชนกลุ่มน้อย
2.รวบรวมข้อมูลจากชุมชนท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ก่อนการดำเนินกิจกรรมในการพัฒนาร่วมกับชุมชน
3.สนับสนุนการจัดทำสาธารณสมบัติและพัฒนาชุมชนร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
4.สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนเป็นอาสาสมัครบริการชุมชน
5.จัดทำแผนงานการพัฒนาชุมชนที่มีการติดตาม และประเมินผล โดยแแผนงานนั้นควรเคารพต่อสิทธิและความคิดเห็นของผู้อื่น พร้อมกับการรักษาผลประโยชน์ขององค์กร
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 2 : การศึกษาและวัฒนธรรม (Education and culture)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษา และเข้าร่วมในกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของคนทุกระดับในท้องถิ่น
- ส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรือกลุ่มผู้ถูกเลือกปฏิบัติ
- ส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาในระบบ
- ส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น
- เผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับชุมชน
- ช่วยอนุรักษ์และปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ที่การดำเนินการขององค์กรส่งผลกระทบ
- ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเทคโนโลยีของชุมชน
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 3 : การสร้างงานและการพัฒนาทักษะ (Employment creation and skills development)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- วิเคราะห์ผลกระทบของการตัดสินใจในการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงานในชุมชน และดำเนินการลงทุนเพื่อบรรเทาความยากจนผ่านการสร้างงาน
- พิจารณาการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการจ้างงานสูงสุด และมีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจระยะยาว
- พิจารณาผลกระทบทั้งภายในและภายนอกองค์กรจากการตัดสินใจในการจ้างผู้รับเหมาช่วง หรือจากหน่วยงานภายนอก
- พิจารณาผลประโยชน์ของการสร้างงาน โดยการจ้างเป็นลูกจ้างประจำแทนลูกจ้างชั่วคราว
- มีส่วนรวมในการวางแผน การฝึกงาน การเรียนรู้ตลอดชีวิต และรับรองการพัฒนาทักษะ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับผู้ด้อยโอกาส
- ร่วมกับองค์กรอื่นในชุมชน ในการพัฒนาและปรับปรุงแผนงานพัฒนาทักษะสำหรับชุมชนที่ขาดแคลน
- จ้างงานและสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเท่าที่จะทำได้
- ส่งเสริมทักษะของชุมชน ให้สอดคล้องกับความต้องการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 4 : การพัฒนาและเข้าถึงเทคโนโลยี (Technology development abd access)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรพัฒนาเทคโนโลยีของชุมชน โดย
- ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
- สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนต่ำที่สามารถทำซ้ำได้ง่าย และช่วยก่อให้เกิดรายได้ให้กับชุมชน
- สนับสนุน ส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีของชุมชนที่มีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการปกป้องสิทธิของชุมชนเหล่านั้น
- ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ห้องปฏิบัติการวิจัย หรือองค์กรอื่น ๆ ในท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับคู่ค้าท้องถิ่น และจ้างคนในท้องถิ่นเข้าทำงานดังกล่าว
- ยินยอมให้มีการถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เงื่อนไขด้านลิขสิทธิ์อย่างเหมาะสม และเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการจัดการเทคโนโลยีนั้นได้ด้วยตนเอง
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 5 : การสร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน (Wealth and income creation)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- พิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และการใช้ทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็นจากการย้ายเข้า หรือย้ายออกจากชุมชน
- สนับสนุนการดำเนินงานที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในชุมชน
- พิจารณาให้สิทธิพิเศษและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการเสริมสร้างความสามารถให้กับผู้ส่งมอบท้องถิ่น และให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน
- พิจารณาช่วยให้การดำเนินงานขององค์กรอื่น เป็นไปตามกฎหมาย
- ร่วมดำเนินกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจกับองค์กรที่มีการพัฒนาน้อย ยากที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ก็ต่อเมื่อองค์กรดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยบรรเทาความยากจน กิจกรรมขององค์กรเหล่านี้มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมีความคาดหวังที่สมเหตุสมผลว่า องค์กรเหล่านี้จะปรับตัวสู่การปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายที่เหมาะสม
- สนับสนุนแผนงาน โครงการต่าง ๆ ในชุมชนที่ดำเนินการโดยกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอื่น ๆ ในการสร้างธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเท่าที่สามารถทำได้
- ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมถึงการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ดี
- ช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงกระบวนการจัดหาขององค์กรได้ง่าย รวมทั้งสร้างศักยภาพและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ชุมชนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ได้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์กร
- สนับสนุนองค์กรหรือบุคคลที่นำผลิตภัณฑ์และบริการที่จำเป็นมาสู่ชุมชน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงตลาดท้องถิ่นกับเขตเมือง และส่งเสริมสวัสดิการชุมชนและการจ้างงาน
- ให้ความรู้แก่ชุมชนเกี่ยวกับการชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 6 : สุขภาพ (Health)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- หาวิธีลดหรือขจัดผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ อันเกิดจากกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กร
- ส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี โดยมีส่วนช่วยให้ชุมชนได้รับยาและฉีดวัคซีน การออกกำลังกาย และโภชนาการที่ดี การป้องกันโรค การคุมกำเนิด และให้การดูแลเรื่องโภชนาการของเด็ก
- สนับสนุน ส่งเสริมการให้ความรู้กับชุมชน เกี่ยวกับโรคอันตราย และภัยคุกคามต่อสุขภาพ และวิธีการป้องกัน ดังเช่น โรคเอดส์ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไข้มาลาเรีย โรควัณโรค และโรคอ้วน
- สนับสนุนบริการสุขภาพพื้นฐานที่จำเป็น ดังเช่น การจัดหาน้ำสะอาด รวมทั้งสุขอนามัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยให้กับชุมชน
ประเด็นการมีส่วนรวมและการพัฒนาชุมชนที่ 7 : การลงทุนด้านสังคม (Social investment)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- หลีกเลี่ยงหรือลดการดำเนินการที่ทำให้ชุมชนต้องพึ่งพากิจกรรม การบริจาคจากองค์กร
- ประเมินผลการดำเนินงานร่วมกับชุมชน และรายงานต่อชุมชน และคนในองค์กร รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุง
- พิจารณาร่วมมือกับองค์กรอื่น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีการแลกเปลี่ยนในด้านความรู้ ทักษะ และทรัพยากร
- สนับสนุนแผนงานเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หรือกลุ่มคนผู้ถูกเลือกปฏิบัติ และผู้มีรายได้น้อย
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com