ประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility – CSR) กำลังเป็นที่ให้ความสนใจกันมากในปัจจุบัน ที่เรียกร้องให้องค์กร และบริษัทต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการรับผิดชอบต่อสังคม และจะมีความสำคัญอย่างมากต่อรูปแบบการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ ในอนาคตที่จะทำอย่างไรให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ โดยอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
Creating Shared Value – CSV คือ หนึ่งในแนวคิดที่ Michael E. Porter และ Mark R. Kramer ได้นำเสนอ โดยได้ให้คำนิยามของ CSV ว่าหมายถึง การสร้างค่านิยมร่วมระหว่างองค์กรธุรกิจกับชุมชน เป็นการกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจ และสังคมของชุมชนที่องค์กรนั้นตั้งอยู่ ให้ก้าวหน้าขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
หากจะกล่าวถึงพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มต้นในระดับแรกเลย คือ ประเด็นที่สังคมหรือสาธารณชนเริ่มมองว่าธุรกิจต่าง ๆ ที่แสวงหากำไรจากการดำเนินธุรกิจ ควรจะตอบแทนผลกำไรคืนสู่สังคมบ้าง ทางด้านองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จึงเริ่มต้นโดยการตอบแทนคืนสู่สังคมในรูปแบบการบริจาค หรือการทำความดี เช่น การสร้างห้องสมุด หรือการให้ทุนการศึกษา
ในระดับที่สอง คือ การที่สังคมเรียกร้องในประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR – Corporate Social Responsibility) ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปหลักเกณฑ์สากล ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายของธุรกิจนั้น การเป็นองค์กรที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ (Good Governance) การไม่ปล่อยมลพิษที่ทำลายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้ธุรกิจต้องหันมาให้ความสำคัญในการบริหารความสมดุลระหว่างกำไร (Profit) สิ่งแวดล้อม (Planet) และสังคม (People) หรือที่เรียกกันว่า Triple Bottom Line
ส่วนในระดับที่สาม คือ CSV ซึ่ง Porter กล่าวไว้ว่า CSV ไม่ใช่สิ่งที่มาทดแทนการบริจาค หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นโมเดลที่นำแนวคิดทางธุรกิจมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าหรือกำไรให้แก่ภาคธุรกิจ และสร้างคุณค่าแก่สังคมไปพร้อม ๆ กัน โดยเป็นคุณค่าที่สามารถวัดได้ (Scalable) และมีความยั่งยืน (Sustainable)
ดังนั้นการสร้างคุณค่าร่วมกัน (CSV) คือ การปฏิบัติในด้านนโยบาย และการดำเนินงานที่ส่งเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัท ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเพิ่มคุณค่าให้แก่สังคมในชุมชนที่องค์กรดำเนินงานอยู่ ซึ่งคุณค่าร่วมกัน (Shared Value) เป็นการประสานผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสังคมหรือชุมชนที่องค์กรดำเนินธุรกิจอยู่ และตัวองค์กรเอง ที่เน้นการสร้างกิจกรรมทางธุรกิจในชุมชน ซึ่งผลที่ได้จะเป็นไปในลักษณะ Win-Win Situation คือ ประเด็นปัญหาทางสังคมก็ได้รับการตอบสนอง ในขณะเดียวกันบริษัทได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างโครงการ CSV เช่น โครงการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ของ CP All ที่เปิดโอกาสรับนักศึกษาเข้าเรียนโดยสนับสนุนเยาวชนให้มีโอกาสได้เรียนต่อ มีเบี้ยเลี้ยงในระหว่างการฝึกงาน จบแล้วมีงานทำ 100% ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมในภาพกว้าง เพราะร้านค้าปลีก 7-Eleven ของ CP All นั้นมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน CP All เองก็ได้ประโยชน์ที่ได้คนทำงานที่ตรงกับความต้องการ และไม่มีปัญหาในเรื่องการขาดแคลนคนทำงาน
หรือตัวอย่างของบริษัท D light ที่เป็นผู้ผลิตหลอดไฟที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟสะสมไว้จาก Solar Cell ในตอนกลางวัน เพื่อนำพลังงานที่ชาร์จไว้ไปใช้ในตอนกลางคืน ซึ่งเข้าไปเจาะตลาดในประเทศอินเดีย โดยมองเห็นปัญหาในสังคมในชนบทของประเทศอินเดีย ที่ไม่มีไฟฟ้าแสงสว่างใช้ ทำให้ตอนกลางคืนคนในชนบทไม่สามารถทำงานได้ เด็กไม่สามารถอ่านหนังสือในตอนกลางคืนได้ เมื่อบริษัท D light พัฒนาสินค้านี้ขึ้นมาให้มีขนาดที่พกพาได้ มีขนาดแบตเตอรี่ที่สามารถให้แสงสว่างได้ตลอดทั้งคืน ก็ทำให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ ในขณะเดียวกันบริษัท D light ก็ได้ประโยชน์จากการที่สามารถขายสินค้าได้มากขึ้น
กลวิธีให้ได้มาซึ่งแนวคิด CSV คือ การปรับรูปแบบมุมมองที่จะเข้าไปเสาะแสวงหาประเด็นปัญหาทางสังคม ความต้องการที่แท้จริงของสังคมและชุมชนต่าง ๆ และลองกลับมาพิจารณาความสามารถขององค์กรว่ามีศักยภาพในเรื่องใดบ้างที่จะไปผลิตสินค้าหรือบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้บ้าง
โดยผู้เขียนจะไปบรรยายในหัวข้อ “แนวทางและวิธีการดำเนินงานด้าน CSR สู่ CSV” ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 นี้ หน่วยงานราชการหรือองค์กรธุรกิจใดสนใจติดต่อเชิญไปบรรยายในหัวข้อ CSR หรือ CSV สามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 062-9541441 หรือ boonlert.alert@gmail.com
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com