เมื่อเอ่ยถึงความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) หลายคนคงนึกถึง หนังสือที่ชื่อว่า “The Fifth Discipline” ของ Peter M. Senge ซึ่งพูดถึงวินัยทั้ง 5 ประการ ขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ได้แก่
- Personal Mastery
- Mental Models
- Shared Vision
- Team Learning
- Systems Thinking
แต่เหตุใด Peter M. Senge จึงตั้งชื่อหนังสือว่า The Fifth Discipline เพราะ Senge เชื่อว่า ความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) คือ วินัยที่เป็นเสาหลักสำคัญขององค์กรแห่งการเรียนรู้ (The Cornerstone of the Learning Organization)
Systems Thinking คือ ความคิดเชิงระบบ ที่มุ่งเน้นในการมองภาพรวม มองให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ แทนที่จะมองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มองให้เห็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะมองเฉพาะจุด
จริง ๆ แล้ว ความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) เป็นเรื่องที่เราสามารถมองเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ถ้าลองจินตนาการถึงการเติมน้ำใส่แก้วเพื่อแปรงฟัน คุณอาจจะคิดว่าก็คงไม่มีอะไร “ก็แค่เปิดก๊อกน้ำเติมน้ำใส่แก้ว” ดูเหมือนลำดับความคิดจะเป็นแบบเส้นตรง (Linear Thinking)
แต่ในความเป็นจริง รูปแบบความคิดในสมองคุณไม่ได้เป็นเช่นนั้น ขณะที่คุณกำลังเติมน้ำนั้น สายตาคุณก็กำลังมองระดับน้ำในแก้วที่ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น สมองคุณก็เริ่มเปรียบเทียบระดับน้ำในแก้วกับระดับน้ำที่ต้องการ จากนั้นสมองคุณก็เริ่มสั่งการร่างกายให้มือขยับไปหมุนก็อกน้ำให้ค่อย ๆ ปิดลง จนปิดสนิทเมื่อระดับน้ำในแก้วขึ้นมาถึงระดับที่ต้องการ จะเห็นว่ากระบวนการ “เติมน้ำใส่แก้ว” นั้น ก็เป็นตัวอย่างง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ใช้ความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ดังแสดงในรูปที่ 2.1
รูปที่ 2.1 ความคิดเชิงระบบในการเติมน้ำ
เหตุใดความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) จึงมีความสำคัญ ? ก็เพราะสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา รวมไปถึงตัวเราเองด้วยนั้น ล้วนมีความสัมพันธ์โยงใยที่เกี่ยวเนื่องกัน
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความคิดเชิงระบบมากขึ้น เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “ระบบ คือ อะไร ?” และ “ความคิด คือ อะไร ?”
ตัวอย่างระบบที่เราสามารถมองเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ระบบร่างกาย (Body Systems) ซึ่งประกอบไปด้วยระบบย่อย ๆ อีกหลายระบบ ได้แก่ ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ ระบบสืบพันธุ์ ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ
อีกตัวอย่างของระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ ระบบรถยนต์ (Vehicle Systems) ซึ่งประกอบไปด้วยระบบย่อย ๆ อีกหลายระบบ ได้แก่ ระบบเครื่องยนต์ ระบบเชื้อเพลิง ระบบเบรก ระบบระบายความร้อน ระบบช่วงล่าง ระบบส่งกำลัง
จะเห็นได้ว่าหากลองมองไปรอบตัวเราแล้ว ล้วนรายรอบไปด้วยระบบต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น หรือมนุษย์คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมา แต่โดยทั้งหมดแล้ว สิ่งที่เรียกว่า “ระบบ” จะประกอบไปด้วย
-
- ส่วนประกอบ (Elements)
- ความเชื่อมโยง (Linkage)
<img class=” wp-image-2673 aligncenter” src=”h
- กลไกการทำงาน (Mechanism)
ในส่วนของความคิดนั้น กระบวนการคิดเกิดจากการรับรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย มาผนวกรวมเข้ากับความรู้ และประสบการณ์ที่มีอยู่ จึงเกิดเป็นความคิดขึ้นมา ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 2.2
รูปที่ 2.2 กระบวนการคิดของมนุษย์
แต่ความคิดก็คือ สิ่งที่เป็นนามธรรม ไม่สามารถจับต้องได้ จะทำอย่างไรให้คนอื่นได้เข้าใจ และสามารถร่วมคิดไปกับเราได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเขียนออกมาเป็นแผนภาพความคิด (Thought Model)
Peter M. Senge ได้นำเสนอในเรื่องพื้นฐานการเขียนแผนภาพความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) อันประกอบด้วย
1.Reinforcing Loop
คือ วงจรเสริมแรง ที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง หรือถดถอยอย่างต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นในแง่บวกหรือในแง่ลบ ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ “ปากต่อปาก” จุดเริ่มต้นอยู่ที่การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้าพึงพอใจก็จะช่วยกันบอกต่อ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้จำนวนลูกค้าที่พึงพอใจเพิ่มขึ้น และบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
2.Balancing Loop
คือ วงจรสมดุล ที่ระบบพยายามปรับตัวเองเข้าสู่สภาวะสมดุล หรือเป้าหมายที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น เวลาเราขับรถ เมื่อเราต้องการไปถึงที่นัดหมายให้ได้ทันกำหนด เราก็จะตั้งเป้าหมายขับรถที่ความเร็วเฉลี่ยที่ค่า ๆ หนึ่ง เมื่อความเร็วที่เป็นอยู่ต่ำกว่าความเร็วค่าเป้าหมาย เราก็จะเหยียบคันเร่งเพื่อเร่งความเร็วให้ได้ตามค่าความเร็วเป้าหมาย หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ รักษาระดับความเร็วนั้นไว้
3.Delay
คือ การหน่วงเวลา เพราะการกระทำในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ได้เกิดผลในทันที ตัวอย่างเช่น เวลาเราปรับอุณหภูมิน้ำในห้องอาบน้ำในโรงแรม เราต้องการให้ได้น้ำที่อุ่นพอดี แต่ส่วนใหญ่เราก็มักจะเร่งเปิดวาล์วน้ำร้อน แต่กว่าจะร้อนก็จะใช้เวลาสักครู่ แต่หลายครั้งเราใจร้อนเร่งไปปรับวาล์วน้ำร้อนเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้น้ำร้อนเกินพอดี เราก็ต้องปรับตำแหน่งวาล์วน้ำร้อนน้ำเย็นไปมาหลายครั้ง จนกว่าอุณหภูมิจะอุ่นพอดีอย่างที่เราต้องการ ซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นปรากฏการณ์การหน่วงเวลา (Delay) ที่เกิดขึ้นในระบบ
พื้นฐานการเขียนแผนภาพความคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) ที่อธิบายมาเบื้องต้นนี้ จะเป็นแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญที่เราจะนำไปใช้ในเรื่อง วิธีการออกแบบระบบ (Systems Design) ที่เราจะกล่าวในรายละเอียดในบทที่ 3 และวิธีการวิเคราะห์ระบบ (Systems Analysis) ที่เราจะกล่าวในรายละเอียดในบทที่ 4
แบบฝึกหัดท้ายบท
จงระบุสถานการณ์ (เรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัว) ที่มีลักษณะปรากฏการณ์ เป็นแบบ
- วงจรเสริมแรง (Reinforcing Loop)
- วงจรสมดุล (Balancing Loop)
- วงจรสมดุลแบบหน่วงเวลา (Balancing Loop with Delay)
ดูรายละเอียดหลักสูตร “Systems Problem Solving and Decision Making”
สนใจฝึกอบรมติดต่อ A@LERT Learning and Consultant
คุณชลมารค (มิลค์) 098-763-3150
คุณทิพย์สุวรรณ (เพชร) 081-711-3466
contact@nairienroo.com
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com