fbpx

ครูที่ดีจุดประกายความใฝ่รู้

(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ ​08/06/2557)

“ครูที่ดี จุดประกาย ความใฝ่รู้ ให้เด็กสู้ สร้างสรรค์สิ่งปราถนา

ครูไม่ดี ยึดอัตตา ตนเป็นใหญ่ กดเด็กไว้ ด้วยความรู้ ในกะลา”

บทกลอนข้างต้นเป็นบทกลอนที่ผู้เขียนแต่งขึ้นเองจากประสบการณ์ที่ได้ไปเป็นคุณครูที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ต้องยอมรับกันว่า ความสำคัญของอาชีพครูที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศ แต่กลับไม่ได้รับการเหลียวแลให้ความสำคัญจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด

อาชีพครูนับว่าได้เงินเดือนน้อยมาก เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ในสังคม ทั้ง ๆ ที่ในต่างประเทศนั้นหลายประเทศให้ค่าจ้างบุคลากรทางด้านการศึกษาสูงมาก ทำให้หลายคนที่มีความฝันใฝ่อยากเป็นคุณครู อย่างเช่น ผู้เขียน “คุณครูพี่บุญเลิศ” คนนี้ ก็ต้องหันไปทำอาชีพวิศวกร เพื่อหาเลี้ยงตนเองแทน

ผู้เขียนเองนับว่าโชคดีมาก ที่คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ได้ให้โอกาสในการได้มาเรียนรู้ทักษะการเป็น Facilitator ในการทำหน้าที่ครูพันธุ์ใหม่ ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย ในช่วงปี 2546-2547 ทำให้ความใฝ่ฝันในวันเยาว์ของผู้เขียน ที่อยากเป็นคุณครูโคบายาชิ ให้กับหนูน้อยโต๊ะโตะจัง เป็นจริงขึ้นมา

การที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะ Facilitator ที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย นั้นทำให้ได้เรียนรู้บทบาทความสำคัญของ คนที่ทำหน้าที่ครู ก็คือ

“กระตุ้นเด็ก ให้กระหาย ใคร่ใฝ่รู้ เปิดประตู หน้าต่าง หลากความคิด”

สิ่งสำคัญ สำหรับเด็ก ไม่ใช่คำตอบ แต่คือ กระบวนการเรียนรู้ ช่างสังเกต และตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว

การกระตุ้นให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ที่ดี กล้าคิด กล้าถาม ก็จะทำให้เด็กค้นพบคำตอบได้ด้วยตนเอง คำตอบนั้นก็จะมีความสดใหม่ เป็นคำตอบที่จะนำไปสู่คำถามอันยิ่งใหญ่ ในการค้นหาสิ่งต่อไป

แต่หากครูสอนให้เด็กท่องจำ ไม่เปิดโอกาสให้เด็กคิด ตอบคำถามเด็ก ด้วยคำตอบเดิม ๆ ด้วยชุดความรู้เดิม ๆ ก็จะทำให้เด็กฝ่อ และเหี่ยวเฉาไป

ผู้เขียนเองมีความสุขมากในการที่ได้สอนหนังสือเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในชั้นประถมต้น จะมีความรู้ตื่นเต้นดีใจเสมอ เมื่อมีโอกาสได้เจอเด็ก ๆ เหล่านั้น ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ เพราะเราได้เห็นพัฒนาการการเติบโตทางความคิด

orchid

ผู้เขียนมักจะเปรียบเทียบ ความสุขในการที่ได้เห็นพัฒนาการของเด็กน้อย ว่าเปรียบเสมือน การที่เราฟูมฟัก รดน้ำ ให้ปุ๋ย ต้นไม้ จนออกดอก อย่างเช่น กล้วยไม้ที่บ้านที่ซื้อมาจาก อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี มาปลูกแรก ๆ ไม่ยอมออกดอก เพราะไปไว้ในร่มเกินไป เปรียบเสมือนบางที เราดูแลลูกแบบใกล้ชิดเกินไป พอเปลี่ยนมาไว้หน้าบ้าน ให้โดนแดดบ้าง เปรียบเสมือนบางที เราต้องปล่อยให้ลูกเผชิญความลำบากบ้าง ก็เริ่มออกดอกสวยงาม

ผู้เขียนคิดว่าพ่อแม่เด็กทุกคน คงไม่อยากทำให้ลูกตัวเองเหี่ยวเฉานะครับ เลือกโรงเรียนที่ดี ครูที่ดีให้กับลูก สิ่งสำคัญสร้างสภาพแวดล้อมในครอบครัวให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เพราะเด็กต้องอยู่ที่บ้านมากกว่าที่โรงเรียน ไม่ต้องอายที่ลูกคำถามแปลก ๆ แล้วเราตอบไม่ได้ หลายครอบครัวมักปิดกั้น และทำลายความอยากรู้ของเด็กลงสิ้นเชิง ด้วยคำพูดเพียงไม่กี่คำ เช่น

“เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” –> เพราะมัวแต่กลัวหมากัด ใช่หรือไม่ ก็เลยยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิม ๆ

“อาบน้ำร้อนมาก่อน” –> แท้จริงแล้วใครอาบน้ำร้อนมาก่อนไม่สำคัญ สำคัญที่ใครอาบบ่อยกว่ากัน

ดังนั้นการที่เด็กน้อยจะสามารถปลดปล่อยศักยภาพการเรียนรู้ของเขาได้อย่างเต็มที่ เป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างคุณครู และพ่อแม่ เพราะ

“ครู คือ ผู้จุดประกายความใฝ่รู้ พ่อแม่ คือ ผู้เปิดโลกกว้างทางความคิด”

“นายเรียนรู้”

อาจารย์บุญเลิศ คณาธนสาร

วิทยากร และที่ปรึกษา

A@LERT Learning and Consultant

มือถือ 086-7771833

E-mail : boonlert.alert@gmail.com

Facebook : นายเรียนรู้

Line ID : @lert

www.nairienroo.com

Related Posts