เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสำนักข่าวชื่อดัง เอพี และ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้สืบเสาะและเผยแพร่เรื่องราวการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับตัวแทนจัดจำหน่ายดังที่ข่าวรายงาน คือ ไทยยูเนี่ยน
สภาพความเป็นอยู่ตามรายงานที่ว่าในแต่ละวันจะมีอาหารบนเรือใน 1 มื้อ ประกอบด้วยข้าวหนึ่งชาม ผสมกับปลาหมึกต้ม หรือปลาที่ถูกโยนทิ้งอื่นๆ ให้ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และในห้องครัวหรือที่ต่างๆ ก็เต็มไปด้วยแมลงสาบ ห้องน้ำก็เป็นเพียงไม้กระดานที่เคลื่อนออกได้ ยามค่ำคืนสัตว์และแมลงก็มาตอมกินชามข้าวที่ไม่ได้ล้างของลูกเรือ ถูกบังคับให้ทำงานกะละ 20-22 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุดพัก
เกิดคำถามที่ว่ามีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานหรือไม่ ?
จึงเกิดข้อเรียกร้องต่อบริษัท ไทยยูเนี่ยน ในความจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ในฐานะผู้รับซื้อปลาทูน่ารายใหญ่ ที่ต้องการให้บริษัทเข้าไปจัดการให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้แรงงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยจะต้องมีมาตรการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งที่มาของวัตถุดิบ
ในมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ได้กล่าวถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ไว้ถึง 8 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 1 : การตรวจสอบและประเมินสถานะขององค์กร (Due diligence)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 2 : สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human right risk situations)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 3 : การหลีกเลี่ยงการร่วมกระทำความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Avoidance of complicity)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 4 : การแก้ไขปัญหาจากการเรียกร้องความเป็นธรรม (Resolving grievances)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 5 : การเลือกปฏิบัติและกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (Discrimination and vulnerable groups)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 6 : สิทธิการเป็นพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (Civil and political rights)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 7 : สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic, social and cultural rights)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 8 : สิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Fundamental principles and rights at work)
ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ อย่างเช่น
การเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีการนำทรัพยากรมาดัดแปลงหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แหล่งน้ำ ป่าไม้ หรือชั้นบรรยากาศและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชน ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจน กรณีธุรกิจสัมปทานเหมืองทองที่ส่งผลกระทบในเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำของชุมชน
ส่วนในประเด็นอื่น ๆ ทั้งหมดจะมีรายละเอียดในแต่ละข้อดังต่อไปนี้
สิทธิมนุษยชน (Human right)
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 1 : การตรวจสอบและประเมินสถานะขององค์กร (Due diligence)
ในทุกกระบวนการตรวจสอบและประเมินสถานะองค์กร ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควร
- กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์กร
- ประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจเกิดขึ้นในอนาคต
- กำหนดแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนภายในองค์กร ครอบคลุมถึงผู้ส่งมอบ ผู้รับเหมา หรือหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร
- ติดตามผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรตามช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อ
- ปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรตามลำดับความสำคัญ
- ปรับปรุงผลกระทบเชิงลบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและการดำเนินงานขององค์กร
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 2 : สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในเรื่องสิทธิมนุษยชน (Human right risk situations)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรพิจารณา และจัดการต่อสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในเรื่องมนุษยชนด้วยความระมัดระวัง ตามที่สามารถประยุกต์ใช้ได้
- ความขัดแย้งหรือขาดเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง
- ภาวะความยากจน ภาวะแห้งแล้ง และการเรียกร้องหรือความต้องการบริการด้านสุขภาพ และภัยธรรมชาติ
- การเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีการนำทรัพยากรมาดัดแปลงหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แหล่งน้ำ ป่าไม้ หรือชั้นบรรยากาศและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชุมชน
- การดำเนินงานอยู่ใกล้ชุมชนพื้นเมือง
- กิจกรรมที่สามารถส่งผลกระทบหรือเกี่ยวข้องกับเด็ก
- การคอร์รัปชั่นในองค์กร
- การมีแรงงานที่เข้ามาทำงานในองค์กรอย่างไม่เป็นทางการ โดยที่กฎหมายไม่ได้คุ้มครอง
- การรักษาความปลอดภัยของพื้นที่หรือสินทรัพย์อย่างเข้มงวด
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 3 : การหลีกเลี่ยงการร่วมกระทำความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Avoidance of complicity)
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการร่วมกระทำความผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งทางตรง และทางอ้อม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรพิจารณาปัจจัยเหล่านี้คือ
- ทวนสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยขององค์กรให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล รวมถึงกฎหมายเกี่ยวข้อง
- ฝึกอบรม ให้ความรู้ต่อบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย ให้สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ตามหลักสิทธิมนุษยชน
- มีขั้นตอนการจัดการข้อร้องเรียนที่เหมาะสม และเป็นกลางเกี่ยวกับกระบวนการรักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
- ไม่นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการให้กับองค์กรอื่น เพื่อนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ไม่เป็นหุ้นส่วนหรือเป็นพันธมิตรทางการค้ากับองค์กรที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- กำหนดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนไว้ในเงื่อนไขการจัดซื้อผลิตภัณฑ์และบริการ ตามความสามารถที่ดำนินการไว้
- ไม่มีการเข้าไปเกี่ยวข้องในการขับไล่บุคคลออกจากพื้นที่ ยกเว้นแต่ได้กระทำตามกฎหมายของประเทศ และแนวปฏิบัติสากลรวมถึงการค้นหาวิธีการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาและมั่นใจได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับการชดเชยที่เพียงพอ
- เผยแพร่ผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรต่อสาธารณะ
- หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกับองค์กรที่มีกิจกรรมต่อต้านสังคม
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 4 : การแก้ไขปัญหาจากการเรียกร้องความเป็นธรรม (Resolving grievances)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
1.กำหนดกลไกในการแก้ไขปัญหาจากการเรียกร้องความเป็นธรรม สำหรับใช้กับองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียโดย
- กำหนดวิธีการ หรือช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนที่หลากหลายทั้งทางโทรศัพท์ แบบฟอร์มร้องทุกข์ จดหมาย ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กล่องรับเรื่องร้องเรียน การประชุมร่วมกับชุมชน หรือรูปแบบอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
- กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน และมีการสื่อสารให้ผู้ร้องทุกข์ได้รับทราบ
- ทบทวนผลลัพธ์และวิธีการแก้ปัญหาจากการเรียกร้องความเป็นธรรม ให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับในระดับสากล
2.กำหนดโครงสร้าง หรือแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาจากการเรียกร้องความเป็นธรรมของลูกจ้าง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรทุกกลุ่ม
3.สร้างกระบวนการโดยให้ผู้เสียหายสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล คำแนะนำ และผู้เชี่ยวชาญที่จำเป็น เพื่อเป็นส่วนทำให้กระบวนการเรียกร้องมีความเป็นธรรม
4.กำหนดกระบวนการเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนรวมระหว่างผู้เสียหายกับองค์กร หรือมีบุคคลที่ 3 ร่วมเจรจาไกล่เกลี่ย
5.กำหนดช่องทางหรือวิธีการ เพื่อเปิดเผยถึงกระบวนการและผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนขององค์กรให้สาธารณชนได้ตรวจสอบ รวมทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 5 : การเลือกปฏิบัติและกลุ่มผู้ที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ (Discrimination and vulnerable groups)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรดำเนินการดังต่อไปนี้
- ไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และบุคคลอื่นที่องค์กรมีส่วนเกี่ยวข้อง
- มีการตรวจสอบการดำเนินงานถึงการไม่เลือกปฏิบัติทั้งทางตรงและทางอ้อมขององค์กรต่อลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ผู้มีส่วนได้เสีย และบุคคลอื่นที่องค์กรมีส่วนเกี่ยวข้อง
- มีการส่งเสริมความเสมอภาคของสตรีในด้านการศึกษา โอกาสในการจ้างงาน การตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับการมีครอบครัว และการวางแผนครอบครัว
- ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ ตลอดจนมีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตามความเหมาะสม
- มีแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการจ้างแรงงานเด็ก
- เคารพสิทธิส่วนบุคคลของชนพื้นเมือง เมื่อต้องมีการตัดสินใจและมีส่วนรวมกับองค์กรในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ สืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรมและทางปัญญา
- เคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น รวมถึงครอบครัวในการจัดการสวัสดิการอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างหรือบุคคลอื่นบนพื้นฐานของความแตกต่างของเชื้อสายบรรพบุรุษ เชื้อชาติ สีผิว ชั้นวรรณะ
- เคารพสิทธิและไม่เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษอื่น ๆ ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้อพยพ คนยากจน ผู้ไม่รู้หนังสือ ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มทางศาสนา
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 6 : สิทธิการเป็นพลเมือง และสิทธิทางการเมือง (Civil and political rights)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรเคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลรวมถึงสิทธิการเป็นพลเมืองอื่น ๆ ดังนี้
- สิทธิในการดำรงชีวิต
- สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก
- เสรีภาพในการชุมนุมและสมาคมอย่างสงบ
- เสรีภาพที่จะแสวงหา รับรู้และแจ้งข้อมูลและความคิดผ่านสื่อใด ๆ โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ
- สิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียวหรือร่วมกับผู้อื่นและอิสระจากการถอดถอนสิทธิในทรัพย์สินโดยพลการ
- สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการและสิทธิในการรับฟังการชี้แจง ก่อนที่จะมีการตัดสินโทษทางวินัย การพิจารณาโทษทางวินัยควรมีความเหมาะสม และไม่เกี่ยวข้องกับการลงโทษทางกายหรือการทารุณหรือการทำให้เสื่อมเสียเกียรติ
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 7 : สิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (Economic, social and cultural rights)
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ควรเคารพในสิทธิทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดย
- มีการพิจารณาถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจดำเนินกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ บริการ และโครงการใหม่ขององค์กร รวมถึงสิทธิของประชากรในท้องถิ่น
- ควบคุมการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นอุปสรรค หรือกีดขวางต่อการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของชุมชน
- อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ให้กับสมาชิกชุมชน
- เข้าร่วมกับองค์กรอื่น ๆ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
- นำขีดความสามารถ หรือศักยภาพที่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจขององค์กรไปส่งเสริมกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชน
- มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ด้อยโอกาส สามารถซื้อ หรือใช้บริการได้
ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ 8 : สิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน (Fundamental principles and rights at work)
แม้ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน จะมีผลควบคุมทางกฎหมาย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรดำเนินการในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ให้เสรีภาพในการสมาคมและการรวมกลุ่มเพื่อเจรจาต่อรองของลูกจ้าง โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับขององค์กร
- ไม่หาผลประโยชน์จากการใช้แรงงานบังคับ หรือทำงานโดยไม่สมัครใจ รวมถึงการหาผลประโยชน์จากแรงงานนักโทษ เว้นแต่เป็นนักโทษที่ได้รับการตัดสินว่าผิดจริงในชั้นศาล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมของรัฐตามเงื่อนไขที่เหมาะสมของการจ้างงาน
- ให้โอกาสที่เท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ โดยองค์กรควรแสดงได้ว่ามีการปฏิบัติเกี่ยวกับการจ้างงาน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ต่อสัญชาติ เชื้อชาติ อายุ เพศ สีผิว แผ่นดินเกิด ความคิดเห็นทางการเมือง ความทุพพลภาพ รวมถึงสถานภาพการสมรส สถานะทางครอบครัว ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล สถานะทางสุขภาพ
- มีการประเมินเป็นระยะ เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากนโยบายการจ้างงานและการดำเนินงานที่ส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com