แก่นแท้ TQM #1
การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง (PDCA)
การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง คือ แนวคิดการทำงานที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง ก็คือ แนวคิด PDCA
แนวคิด PDCA ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Walter Shewhart ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกการใช้สถิติสำหรับวงการอุตสาหกรรม และต่อมาวงจร PDCA ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย มากขึ้น เมื่อปรมาจารย์ด้านการบริหารคุณภาพ อย่าง W.Edwards Deming ได้นำมาเผยแพร่ให้เป็นเครื่องมือสำหรับการปรับปรุงกระบวนการ วงจรนี้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “Deming Cycle”
หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “แผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” หากลองถามว่าเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่ เสียงส่วนใหญ่คงจะต้องตอบว่าเห็นด้วยแน่ ๆ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หากมีการวางแผนไว้เป็นอย่างดี มักมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้มากกว่าทำโดยไม่มีการวางแผน หรือมีแผนที่ไม่เอื้อต่อการนำไปปฏิบัติได้จริง อย่างไรก็ตามการวางแผน ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของความสำเร็จ บ่อยครั้งที่มักพบว่าแผนได้รับการจัดทำ และจัดเก็บเข้าแฟ้ม ส่วนการดำเนินงานก็ทำกันไปตามสถานการณ์ หากเป็นเช่นนี้แล้ว ต่อให้มีแผนที่ดีเพียงใด แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าโอกาสของความสำเร็จนั้นยังอยู่ห่างไกล
หัวใจหลักสำคัญที่จะทำงานให้ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ก็คือ การที่สามารถนำวงจร PDCA ไปประยุกต์ใช้ได้จริง ซึ่งเริ่มต้นต้องทำความเข้าใจวงจร PDCA ให้ถึงแก่นแท้
P = Plan – เป็นผู้วางแผนอย่างรอบคอบ
D = Do – เป็นผู้มุ่งมั่นกระทำตามแผนนั้น
C = Check – เป็นผู้ไม่ละเลย ที่จะตรวจสอบผล
A = Act – เป็นผู้หมั่นทบทวนตน
PDCA จึงเป็นแนวคิดหนึ่ง ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่การวางแผนเท่านั้น แต่แนวคิดนี้ยังเน้นให้เกิดการดำเนินการปรับปรุงงานอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็คือ ขั้นตอน A – Act ที่จะต้องเป็นผู้หมั่นทบทวนตน เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการปฏิบัติไปนั้นได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ? หากยังไม่ได้ก็ต้องกลับไปทำวงจร PDCA อีกรอบ แต่ถ้าสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ให้กำหนดเป็น Standard มาตรฐานในการปฏิบัติงาน แล้วให้ทุกคนถือปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ เกิดเป็นวงล้อ SDCA ที่จะช่วยรักษาระดับมาตรฐานในการทำงานให้คงอยู่ จนกว่าจะมีการปรับปรุงงานในรอบใหม่ เกิดเป็นวงล้อ PDCA – SDCA – PDCA – SDCA – PDCA สลับกันไปเพื่อการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ดังแสดงในภาพที่ 1
ภาพที่ 1 วงล้อ PDCA – SDCA – PDCA
ในภาพที่ 1 จะแสดงให้เห็นการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาที่เปลี่ยนไป โดยการทำกิจกรรมการปรับปรุงงานตามวงล้อ PDCA หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกว่าการทำ “Kaizen” ซึ่งคำว่า “Kai” มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Change” ส่วนคำว่า “Zen” มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า “Good” ดังนั้นจึงมีความหมายรวมกันว่า “การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะคงอยู่เป็นมาตรฐาน และยั่งยืนได้ จะต้องหมุนวงล้อ SDCA เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐาน และความยั่งยืน(Standardise & Sustain)
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com