การบริหารงานโดยใช้ข้อเท็จจริง (Management by Fact) เป็นแนวคิดการทำงานที่สำคัญมาก บริษัทญี่ปุ่นมีหลักในการทำงานที่เรียกว่า 3G คือ Genba ลงไปดูที่หน้างานจริง, Genbutsu สัมผัสของจริง และ Genjitsu สำรวจสภาพแวดล้อมสถานการณ์จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการแก้ปัญหา และตัดสินใจต่าง ๆ
เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ผู้จัดการโรงงาน ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเป็นส่วนสำคัญที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะหากข้อมูลที่เข้ามาไม่ถูกต้องกลายเป็นขยะเสียแล้ว ก็ย่อมส่งผลทำให้การแก้ปัญหา และตัดสินใจต่าง ๆ ผิดพลาดด้วยกลายเป็นขยะเช่นกัน อย่างที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า “Garbage in, Garbage out (GIGO)”
ตอนสมัยเริ่มทำงานที่เครือซิเมนต์ไทย เมื่อปี 2540 ที่โรงงานเยื่อกระดาษสยาม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผม และเพื่อนร่วมงานที่เข้ามารุ่นเดียวกัน ก็ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมโครงการ DCS Phase#2 ที่แผนกผลิตน้ำยาเคมีกลับคืน ซึ่งงานแรกที่ผม และเพื่อนได้รับมอบหมาย รุ่นพี่วิศวกรอาวุโสคนหนึ่งในตอนนั้น ก็คือ พี่วิชาญ จิตร์ภักดี บอกกับผม และเพื่อนไม่ต้องอยู่บน Office ให้ลงไปเดินดูในกระบวนการผลิตที่แผนกผลิตน้ำยาเคมีกลับคืน ในทุก ๆ ส่วนให้เข้าใจเสียก่อน ผม และเพื่อน ใช้เวลาลงไปคลุกคลีอยู่กับพี่ ๆ ที่ทำหน้าที่เดินเครื่องจักร อะไรไม่เข้าใจก็สอบถาม ทำให้ได้เรียนรู้ และเข้าใจกระบวนการเป็นอย่างดี พอถึงในช่วงติดตั้งระบบ DCS (Distribution Control System) ก็ทำให้ผมสามารถเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของเครื่องจักรได้เป็นอย่างดี
บุคคลที่เป็นบุคคลต้นแบบ (Role Model) อีกคนในเรื่องนี้ ก็คือ พี่เจษฎา แซ่เหลี่ยง สมัยเป็นผู้จัดการส่วนผลิต โรงงานเยื่อกระดาษสยาม ที่จะใช้สไตล์การบริหารงานแบบที่เรียกว่า Management by Walking Around ซึ่งจะให้ความสำคัญอย่างมากกับการเดินตรวจโรงงาน ลงไปดูที่หน้างานจริงและพูดคุยกับพนักงานที่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร เพื่อรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ไอเดียอันไหนที่เข้าท่า ก็ตัดสินใจให้ดำเนินการปรับปรุงทันทีเลย ทำให้บรรยากาศการทำงานในช่วงนั้นคึกคักมาก ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นออกมาในแง่ Productivity ที่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เรียกได้ว่าผู้ที่บริหารงานโดยใช้ข้อเท็จจริง (Management by Fact) นั้นจะไม่เป็นผู้ที่อาศัยประสบการณ์ในการแก้ปัญหา และตัดสินใจเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงควบคู่ด้วย
แต่ข้อควรระวังในการข้อมูล ก็คือ อย่าเป็นมนุษย์ค่าเฉลี่ย หรืออย่าเป็นมนุษย์ที่ดูเฉพาะค่าผลรวม จะต้องใส่ใจในความผันแปร (Variation) ของข้อมูลด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตอนสมัยที่ผมทำงานอยู่ที่เครือเบทาโกร ที่ได้เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบโครงการปรับปรุงงานในเรื่องการปรับปรุงขีดความสามารถกระบวนการชั่งน้ำหนักอาหารสัตว์ ภายใต้ชื่อโครงการ Packing Giveaway Loss ซึ่งสิ่งสำคัญนั้นต้องไม่พิจารณาในเรื่องค่าเฉลี่ยน้ำหนักต่อถุง ว่าแตกต่างจากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใดอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการสุ่มเก็บข้อมูลน้ำหนักแต่ละถุงไปวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ เพื่อหาค่าความผันแปรของน้ำหนักอาหารสัตว์แต่ละถุงว่าเบี่ยงเบนไปอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงชุดควบคุมต่าง ๆ ในกระบวนการชั่งน้ำหนัก ให้มีขีดความสามารถในการควบคุมกระบวนการ (Process Capability) ของกระบวนการในการชั่งน้ำหนักที่สูงขึ้น เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และไม่เกิดกรณีน้ำหนักอาหารต่อถุงน้อยผิดปกติ จนลูกค้าร้องเรียน หรือกรณีน้ำหนักอาหารต่อถุงมากผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นความสูญเสียต่อบริษัท
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com