fbpx

เตรียมพร้อม! ซ้อมโดนไล่ออก!

ช่วงนี้ได้มีโอกาสฟังข่าวการเลิกจ้างพนักงานบริษัทที่คืนใบอนุญาต ผู้ประกอบการ TV Digital หลายๆ บริษัททยอยเลิกจ้างพนักงานมาตั้งแต่เดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่แจ้งคืนใบอนุญาต ขณะที่หลายๆ บริษัทเลิกจ้างในวินาทีสุดท้าย ซึ่งแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า “การถูกเลิกจ้าง” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป ในฐานะคนทำงาน HR ที่เกี่ยวข้องกับการเลิกจ้างพนักงาน ก็มีประสบการณ์ตรงที่อยากแชร์เพื่อให้ทุกคนตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับการเลิกจ้างที่สามารถเกิดขึ้นได้กับพวกเราทุกคน
สมัยที่เริ่มทำงาน HR ในบริษัทข้ามชาติ เหตุการณ์การเลิกจ้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ช่วงเริ่มทำงานใหม่ๆ รู้สึกตกใจมากเมื่อทราบว่าบริษัทมีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน แต่เจ้านายซึ่งเป็น HR Director อธิบายว่าเป็น “Business Requirement” หรือ “ความจำเป็นทางธุรกิจ” พร้อมปลอบใจเล็กๆ ว่า อยู่ๆ ไปก็จะชิน

มีอยู่ครั้งหนึ่งบริษัทมีการเลิกจ้างทีมเซลล์ยกทีม ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ทำงานกับบริษัทมาร่วม 20 ปี และมีผลงานดี การเลิกจ้างพนักงานที่มีอายุงานนานแบบนี้ บริษัทจะต้องสูญเสียค่าชดเชยเป็นจำนวนมากขึ้นตามจำนวนปีที่ร่วมงานกับบริษัท และการให้พนักงานที่มีผลงานดีออกจากงานย่อมทำให้คนที่ยังทำงานอยู่เสียขวัญกำลังใจตามไปด้วย แต่ด้วยเหตุผลที่บริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยจัดการระบบการสั่งซื้อสินค้า ลุงๆ ทีมเซลล์ที่ทำงานได้ดีในระบบเดิม เมื่อต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบใหม่ จึงเป็นภาระที่บริษัทต้องเสียเวลาในการสอนให้เรียนรูระบบใหม่ๆ และใช่ว่าทุกคนจะสามารถปรับตัวได้ หรือหากจ้างคนใหม่มารวมกับคนเก่า การเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานและวัฒนธรรมงานของทีมก็จะเปลี่ยนแปลงได้ช้า บริษัทจึงยินดีที่จะจ่ายให้ออกยกทีม ส่วนทีมเซลล์ที่ถูกเลิกจ้าง หากยังเชื่อมั่นในความสามารถและไม่ยอมแพ้ก็ถือว่าได้ทั้งเงินและงานใหม่ ระยะเวลาปวดใจก็มีแค่ช่วงแรกๆ เท่านั้น

เรื่องที่เล่ามาข้างต้น ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ถือว่าเป็น Technology Disruption ในองค์กร ซึ่งก็เห็นได้ชัดจากตัวอย่างของอุตสาหกรรมการผลิตสื่อ TV ที่พนักงานส่วนใหญ่จะต้องโยกย้ายไปทำอย่างอื่น หรือปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถของตัวเองให้มีความหลากหลายมากขึ้น

เพราะฉะนั้นในแง่บุคคล ทางรอดของเราจึงขึ้นอยู่กับว่าเราเตรียมพร้อมรับมือก่อนสถานการณ์ขาลงของธุรกิจจะมาถึงแล้วกันหรือยัง?

วิธีการง่ายๆ คือให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรามีทักษะหรือความสามารถอะไรบ้างที่คุณจะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงขาลง และทักษะนี้จะนำไปใช้กับงานอื่นๆ ได้อย่างไร ถ้าตอบคำถามนี้ได้ก็เท่ากับคุณคือคนที่องค์กรอยากให้อยู่ต่อ แต่ถ้าจะจากไป คุณก็ยังไปได้รอด

สำหรับคนที่ตอบคำถามนี้ไม่ได้เลย รู้สึกมืดแปดด้าน ตรงนี้ต้องรีบเตรียมตัวอย่างเร่งด่วนแล้วว่าจะอัพเกรดตัวเองอย่างไร

สำหรับเพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพ HR อาจจะต้องรับศึกสองทาง คือ นอกจากจะต้องเช็คตัวเองแล้ว คุณอาจจะต้องวางแผนหรือกลยุทธ์บางอย่างที่จะช่วยให้พนักงานได้ประโยชน์สูงสุดจากการเลิกจ้าง รวมถึงเตรียมพร้อมพนักงานก่อนประกาศนโยบายเลิกจ้างพนักงาน หรือที่ปรึกษาช่วยบริหารจัดการงานลักษณะนี้แก่เจ้าของ

สุดท้ายในฐานะผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ไม่ว่าตอนนี้ธุรกิจของคุณจะดีแค่ไหน เศรษฐกิจจะขาขึ้น ผลประกอบการ และรายได้จะเป็นอย่างไร คุณเองก็จำเป็นต้องเตรียมทุกๆ คนในองค์กรให้พร้อมกับสถานการณ์ที่ย่ำแย่ อย่างที่ เจฟฟ์ เบซอส ซีอีโอของบริษัทอเมซอนประกาศกับพนักงานในช่วงที่บริษัทรุ่งเรืองสุดขีดจนได้รับยกย่องว่าเป็นแบรนด์ที่มีมูลค่าอันดับต้นๆ ของโลก และเพิ่งตั้งสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่เรียกว่า HQ2 ที่นิวยอร์กและวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า “อเมซอนใหญ่แค่ไหนก็เจ๊งได้”  ซึ่งซีอีโอน้อยคนจะกล้าพูดแบบนี้กับพนักงาน แต่ถ้าเราวิเคราะห์ให้ดีจะรู้ว่ามีแต่ช่วงเวลาแบบนี้เท่านั้นแหละที่เราจะต้องเตรียมคนในองค์กรให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และต้องย้ำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมออย่างที่ เจฟฟ์ เบซอส ขยายความว่า “อเมซอนไม่ใหญ่เกินกว่าที่จะล้มได้…ผมทำนายไว้เลยว่าวันหนึ่งข้างหน้าอเมซอนจะล้มเหลว อเมซอนจะเจ๊ง ถ้าคุณดูช่วงชีวิตของบริษัทยักษ์ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 30 ปีเศษๆ ไม่ใช่ร้อยปี…”  ซึ่งจริงๆ เขาน่าจะต้องการเปรียบเทียบกับ Sears ห้างสรรพสินค้าชื่อดังในอมริกาที่มีอายุยาวนานมาถึง 129 ปีก่อนจะเจ๊งไปเมื่อไม่นานมานี้ ดังนั้นหน้าที่เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารอย่างเราไม่ใช่แค่ชื่นชมยินดีกับช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จ แต่ทำให้ทุกคนตื่นตัวสำหรับวันที่โหดร้าย ไม่ว่าคุณจะเป็นเพียงพนักงาน, HR หรือผู้บริหาร หากไม่เริ่มเตรียมพร้อมเสียตั้งแต่วันนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจจะกลายเป็นคนบอกเลิก ช่วยวางแผนในการบอกเลิก หรือถูกบอกเลิกเสียเอง

ข้อมูลอ้างอิง https://www.thaipost.net/main/detail/22617

อยากรู้ลึกกว่านี้ ลงทะเบียนหลักสูตร Public เทคนิค 3Rs บริหารงาน HR ให้อยู่หมัด >> https://www.nairienroo.com/public-training/

สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอ่านบทความดีๆ เพื่อนำไปใช้ในงาน  Add Line “@lert”  ได้นะคะ

บทความโดย – อาจารย์เพชร – ทิพย์สุวรรณ ตั้งอมรสุขสันต์
เรียบเรียงโดย – จี สุภาวดี

Related Posts