(บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “Life is Learning” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 14/07/2556)
ช่วงที่ผ่านมาในแวดวงการศึกษาไทย เรื่องที่มีการพูดคุยกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้นเรื่องนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีคุณภาพ เนื่องจากงบประมาณมีไม่เพียงพอ คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมนี่คือ แนวทางการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาไทยจริง ๆ หรือ ?
อันที่จริงแล้วประเด็นปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เป็นต้นแบบหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย ก็กำลังประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน
เซอร์ เคน โรบินสัน ปรมาจารย์ด้านการศึกษา ได้แสดงปาฐกถาในเวที TED Talks Education เมื่อเดือนเมษายน 56 ที่ผ่านมา สรุปประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิกฤติการศึกษาที่เกิดขึ้น ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไม่สนใจเรียน ไม่สนุกกับการเรียน และไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเรียน ทั้ง ๆ ที่มีโครงการมากมายที่มุ่งปรับปรุงเรื่องการศึกษา แต่ปัญหาคือ โครงการเหล่านั้นขัดแย้งกับหลักการธรรมชาติของมนุษย์ 3 ข้อ ที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์เติบโตงอกงาม
1. ธรรมชาติของมนุษย์ มีความแตกต่างหลากหลาย
การศึกษาภายใต้ พรบ.การศีกษา “No Child Left Behind” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เน้นความเหมือน ไม่ใช่ความหลากหลาย ภายใต้นิยาม “ผลสัมฤทธิ์” แบบแคบ ๆ ที่มุ่งเน้นเฉพาะ 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทำให้เด็กที่มีความสามารถในด้านอื่น ๆ เช่น ศิลปะ ถูกละเลยไป และการเรียนก็เลยเป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับพวกเขา
2. ธรรมชาติของมนุษย์ มีความอยากรู้อยากเห็น
เด็ก ๆ เป็นนักเรียนรู้โดยธรรมชาติ ความสำเร็จที่แท้จริงของคนที่ทำหน้าที่ครู คือ การที่คุณสามารถกระตุ้นให้เด็ก ๆ ปลดปล่อยความสามารถนี้ออกมาได้ แทนที่จะปิดกั้นมันเอาไว้ บทบาทของครูที่แท้จริง คือ การทำหน้าที่ Facilitator แต่ด้วยระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่การทดสอบมาตรฐาน ทำให้เด็ก และคุณครูถูกตีกรอบในเรื่องความอยากรู้อยากเห็น
3. ธรรมชาติของมนุษย์ มีความสร้างสรรค์อยู่ในตัว
บทบาทหนึ่งที่สำคัญของการศึกษา คือการปลุกและพัฒนาพลังความคิดสร้างสรรค์ แต่ในทางตรงกันข้าม ระบบการศึกษากลับสร้างวัฒนธรรมของการมีมาตรฐานเดียว
นอกจากนี้แล้วเซอร์ เคน โรบินสัน ได้ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ที่มีระบบการศึกษาประสิทธิภาพสูง ที่มุ่งเน้น
1. การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน
2. การเน้นคัดเลือกบุคลากรที่ดีเลิศมาเป็นครูผู้สอน
3. การมอบอำนาจและความรับผิดชอบให้แก่โรงเรียนเป็นผู้บริหารจัดการเอง
สำหรับผู้อ่านที่สนใจชมปาฐกถาฉบับเต็ม สามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่
http://www.ted.com/talks/lang/th/ken_robinson_how_to_escape_education_s_death_valley.html
ย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาของบ้านเรา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมาขบคิดเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ?
เบนจามิน แฟรงคลิน กล่าวไว้ว่า ในโลกนี้มีคนอยู่สามประเภท
1. คนที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว คนที่ไม่เข้าใจ และไม่อยากทำความเข้าใจ
2. คนที่เห็นความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลง และพร้อมที่จะรับฟัง
3. คนที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลง คนที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น
เราสามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ ที่ครอบครัวของเรา ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของลูกหลาน เพื่อให้เขาสามารถเจริญเติบโตงอกงามตามธรรมชาติแห่งการเรียนรู้
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com