บันทึกเรื่องราว “ครูไม่กั๊ก ศิษย์รักทำ” เป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ติดตาม อ.ไชยยศ ปั้นสกุลไชย ไปทำหน้าที่ผู้ช่วยวิทยากร (Trainer Assistant) ในหลักสูตรต่าง ๆ ซึ่งเป็นเทคนิค ความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่ได้เรียนรู้โดยตรงผ่านประสบการณ์จริง (Experience Learning) ที่หลายเรื่อง อ.ไชยยศ ไม่สามารถถ่ายทอดได้หมดในหลักสูตร Innovative Trainer ที่เรียนในห้อง 5 วัน เรียกได้ว่าเป็นการถ่ายทอดกระบวนยุทธ์วิทยากรแบบ “ครูไม่กั๊ก” ส่วนผู้เป็น “ศิษย์” ใจต้อง “รัก” และลงมือ “ทำ”
21 สิงหาคม 2557 ความคั่งค้างคาใจของผมกับปากกาเคมี อ.ไชยยศ ที่มีมานานก็เริ่มประทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อผมได้มีโอกาสตาม อ.ไชยยศ ไปทำหน้าที่ผู้ช่วยวิทยากร (Trainer Assistant) ในหลักสูตร Train the Trainer ให้กับบริษัท Homepro
ผมเองเดินทางไปถึงที่ฝึกอบรมแต่เช้าประมาณ 7 โมงครึ่ง ก็เริ่มต้นเตรียมความพร้อมก่อนเริ่ม Class ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมเอกสาร อุปกรณ์สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เขียน Flip Chart นอกจากนี้แล้วก็ต้องเตรียมปากกาเคมีปลายหัวตัดสีแดง สีดำ และสีน้ำเงิน ไว้ที่แต่ละกลุ่มทั้ง 3 สี
เพราะสิ่งที่วิทยากรนอกกรอบ อย่างอาจารย์ไชยยศ ปั้นสกุลไชย เน้นย้ำในการเขียน Flip Chart คือ
1. “Minimum Word, Maximum Size”
2. ความมีสีสัน (Colourful) ต้องมี 3 สีเป็นอย่างน้อย
3. เขียนเตรียมไว้แต่เช้า จะได้ไม่เสียเวลาตอนทำกิจกรรม
และทุกครั้งเลขาฯ อ.ไชยยศ ก็จะเตรียมปากกาเคมีมาให้พร้อม เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วไปจัดฝึกอบรมที่ไหนไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือบริษัทลูกค้า ปากกาที่เตรียมไว้มักเป็นปากกาปลายหัวแหลม ซึ่งพอเขียนออกมาแล้วเส้นตัวหนังสือจะเล็กเกินไป ทำให้อ่านจากระยะไกลได้ไม่ดี
แต่วันนี้ที่ Homepro ก็มีเตรียมปากกาเคมีไว้เหมือนกันตามรูปด้านล่างฝั่งซ้ายมือ ส่วนฝั่งขวามือก็เป็นปากกาที่เลขาฯ อ.ไชยยศ เตรียมมา ดูแล้วแตกต่างกันไหมครับ เป็นแบบปลายหัวตัดเหมือนกัน
ผมก็เลยเดินรี่ตรงเข้าไปถาม อ.ไชยยศ เลยครับ
“อาจารย์ครับ ตกลงปากกานี่ จะใช้ปากกาของเรา หรือของที่นี่ครับ ?” ผมเอ่ยถาม พร้อมยื่นปากกาให้ดูเปรียบเทียบ
“ใช้ของเรานี่แหละ ของที่นี่เก็บคืนเจ้าหน้าที่เขาให้หมด” คำตอบสั้นสั้นตามสไตล์ อ.ไชยยศ
ผมเองก็โอเคว่าไง ว่าตามกัน แต่ก็ยังคั่งค้างคาใจอยู่ “อะไรกันวะ ก็ปลายหัวตัดเหมือนกันไม่ใช่เหรอ!”
ก็ทำงานกันไปจนจบวัน กว่าจะเลิกก็ประมาณ 6 โมงเย็น อ.ไชยยศ ก็ชวนทานข้าวก่อนกลับ ผมก็เลยได้โอกาสถามอีกครั้งกับข้อสงสัยเรื่องปากกาเคมี
“อาจารย์ครับ ผมสงสัยจริง ๆ ครับ ว่าทำไมอาจารย์ไม่ใช้ปากกาของที่นี่ ก็เป็นปลายหัวตัดเหมือนกัน”
“คุณบุญเลิศ! คุณบุญเลิศสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรไหม ไอ้ปากกาเคมีของที่นี่ปลายหัวตัดก็จริง แต่มันมี 2 ด้าน คือ ด้านเล็ก กับด้านใหญ่”
“ก็โอเคนี่ครับอาจารย์ เวลาเราเขียนเราก็ใช้ด้านใหญ่เขียนอยู่แล้ว”
“ใช่คุณบุญเลิศ เวลาเราเขียนเราใช้ด้านใหญ่เขียน แต่เวลาที่ผู้เรียนเขียนเองล่ะ เขาอาจไม่ใช่ด้านใหญ่เขียนก็ได้”
“อ๋อ! เข้าใจละ อาจารย์ก็เลยใช้หลัก Poka-Yoke (กันเผลอเรอ) โดยการเปลี่ยนเป็นปากกาของเราซะเลย จะได้การันตีว่าไม่มีความผิดพลาดในการใช้ปลายด้านเล็กเกิดขึ้น”
“ใช่แล้ว และอีกอย่างคือ เวลาเก็บของ เราก็เก็บง่ายไม่ต้องมามัวจำว่าปากกาอันนี้ของเราหรือปากกาอันนี้ของเขา”
นี่แหละหนา อีกหนึ่งบทเรียนที่ว่า “กะอีแค่ปากกานี่นะ…จะอะไรกันนักหนา”
“นายเรียนรู้”
วิทยากร และที่ปรึกษา
A@LERT Learning and Consultant
มือถือ 086-7771833
E-mail : boonlert.alert@gmail.com
Facebook : นายเรียนรู้
Line ID : @lert
www.nairienroo.com